“พาณิชย์” เตรียมไฟเขียวขึ้นราคานม หลัง ครม. อนุมัติขึ้นน้ำนมดิบ 1 บาท ชี้การขึ้นแอลพีจี-เอ็นจีวี ไม่กระทบต้นทุนสินค้า แค่ส่งผลจิตวิยาประชาชน เตรียมส่งธงฟ้า 950 ครั้งในปีงบ 58 ลุยลดค่าครองชีพ
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ จะเรียกประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาสินค้านม โดยจะหารือถึงแนวทางการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมที่ใช้น้ำนมดิบเป็นวัตถุดิบ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ 1 บาท/กก. จาก 18 บาท/กก. เป็น 19 บาท/กก. และให้มีผลตั้งแต่ที่กระทรวงพาณิชย์อนุมัติให้ผลิตภัณฑ์นมปรับขึ้นราคา
“ครม.มีมติปรับราคาน้ำนมดิบ ก็คงต้องให้สินค้านมปรับขึ้นตามด้วย ซึ่งต้องประชุมคณะอนุกรรมการฯ ก่อน เพื่อดูว่าราคาน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้น 1 บาท/กก. มีผลต่อต้นทุนการผลิตเท่าไร เพื่อพิจารณาในการปรับราคา ซึ่งคงจะอนุมัติให้สินค้านมปรับขึ้นทันทีหลังประชุมคณะอนุกรรมการฯ” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า กรมการค้าภายในได้ศึกษาผลกระทบการปรับขึ้นก๊าซแอลพีจี และก๊าซเอ็นจีวี พบว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี 0.62 บาท/กก. เมื่อเดือน ต.ค. 2557 จาก 2.138 บาท/กก.เป็น 22 บาท/กก. นั้น ไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้า เนื่องจากรถบรรทุกขนส่งส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซล และใช้ก๊าซเอ็นจีวีแค่สัดส่วน 4.45% ของรถบรรทุกทั้งหมด แต่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคคลเพิ่มขึ้นวันละ 2.55 บาท และรถแท็กซี่เพิ่มขึ้นวันละ 12.75 บาท/1 กะ และอาจมีผลกระทบต่อจิตวิทยาทำให้ประชาชนรู้สึกว่าค่าครองชีพจะเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับการปรับขึ้นก๊าซเอ็นจีวีในส่วนของรถยนต์ส่วนบุคคล กก.ละ 1 บาท จาก 10.50 บาท/กก. เป็น 11.50 บาท/กก. ส่วนรถโดยสารสาธารณะให้คงราคาก๊าซเอ็นจีวีไว้ที่ 8.50 บาท/กก. พบว่าไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าเช่นเดียวกัน แต่กระทบต่อค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลของการใช้รถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้นวันละ 6 บาท และมีผลต่อจิตวิทยาทำให้ประชาชนรู้สึกว่าค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งต้องเร่งทำความเข้าใจต่อประชาชนต่อไปว่าไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า แผนในการดูแลค่าครองชีพให้แก่ประชาชน นอกจากจะมีการจัดโครงการลดราคาสินค้าเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนแล้ว ในปีงบประมาณ 2558 จะจัดโครงการธงฟ้าราคาประหยัด โดยกำหนดจัดงาน จำนวน 950 ครั้ง คาดว่าผู้บริโภคประมาณ 6.5 ล้านคน สามารถประหยัดรายจ่ายในการซื้อสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จะมีการจัดตลาดนัดชุมชน โดยร่วมมือกับ อบจ.และ อบต. คัดเลือกสถานที่ และสินค้ามาจำหน่าย โดยผู้ประกอบการรายเล็กจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น
พร้อมกันนี้ ยังรณรงค์โครงการฉลาดซื้อ ประหยัดใช้ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยให้ผู้บริโภครู้จักรักษาสิทธิของตนเอง และโครงการร้านจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จเพื่อคืนความสุขทุกจานให้ประชาชนผ่านโครงการหนูณิชย์ พาชิม