ASTVผู้จัดการรายวัน - “ซีพี” ปรับโมเดลธุรกิจแบรนด์ “ห้าดาว” สู่ธุรกิจ Quick Service Restaurant เร่งขายแฟรนไชส์ทำตลาดไก่ทอด 8 ประเทศหลักในเอเชีย พร้อมใช้ผลิตภัณฑ์ไส้กรอก นักเก็ต และอื่นๆ แบรนด์ “CP” เจาะกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงานตอนต้นชนชั้นกลางที่มีอายุ 20-30 ปี ในเมืองใหญ่ หวังขยายพื้นที่ขายครอบคลุมทั้งประเทศอินเดีย และเวียดนามภายใน 5-10 ปี ก่อนขยายไปยังประเทศอื่นๆ
นายซานจีฟ แพนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ผู้ดูแลและรับผิดชอบธุรกิจ “ห้าดาว” ในต่างประเทศ (อินเดีย และเวียดนาม) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เริ่มเข้าไปดำเนินธุรกิจห้าดาวในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศอินเดีย ณ เมืองบังกาลอร์ และเชนไน ซึ่งมีฟาร์มเลี้ยงไก่ และโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของบริษัทฯ เปิดดำเนินงานอยู่แล้ว โดยเริ่มแรกเปิดจุดขายเป็นลักษณะซุ้ม (Kiosk) เช่นเดียวกับประเทศไทย เมื่อประมาณเดือน พ.ย.55 แต่ไม่ได้รับการตอบรับ และได้รับความเชื่อมั่นในแบรนด์จากผู้บริโภคชาวอินเดียมากนัก จึงต้องปรับเป็นลักษณะร้านค้าขนาดพื้นที่ 100-150 ตารางฟุต ในรูปแบบ Quick Service Restaurant (QSR) ภายใต้ชื่อ “Five Star Chicken” เมื่อประมาณเดือน ม.ค.56
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีพื้นที่ขายครอบคลุมพื้นที่ตอนใต้ของประเทศอินเดียประมาณ 4 หมื่นตารางกิโลเมตร รวมทั้งสิ้น 225 จุดขาย แบ่งเป็นร้านในเมืองบังกาลอร์ 125 จุดขาย เมืองเชนไน 40 จุดขาย และเมืองอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง 60 จุดขาย โดยยังคงมีจุดขายในลักษณะซุ้มประมาณ 3-5 จุดขาย ขณะที่มีเป้าหมายขยายจุดขายเพิ่มเดือนละ 10-15 แห่ง หรือคิดเป็น 250 แห่งภายในสิ้นปี 2557 และเพิ่มเป็น 500 จุดขายภายในปี 2558 โดยคาดว่าจะมีจุดขายครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศอินเดียภายใน 5-10 ปีข้างหน้า
“ตามแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ เน้นทำการตลาดกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงานตอนต้นชนชั้นกลาง อายุ 20-30 ปี ในเมืองใหญ่ๆ ที่มีจำนวนประชากร 5-10 ล้านคนขึ้นไป เริ่มจากขยายพื้นที่จุดขายให้ครอบคลุมพื้นที่ตอนใต้ในเมืองบังกาลอร์ ที่มีประชากร 8 ล้านคน และเมืองเชนไนซึ่งมีประชากร 10 ล้านคน ก่อนจะขยายไปสู่เมืองมุมไบ ทางภาคตะวันตกซึ่งมีประชากร 20 ล้านคน ต่อด้วยเมืองนิวเดลี ที่มีประชากร 15 ล้านคน และสุดท้ายคือ เมืองกัลกัตตา ทางฝั่งตะวันออกซึ่งมีประชากร 12 ล้านคน”
ธุรกิจห้าดาวในประเทศอินเดียมีลักษณะเป็นแฟรนไชส์ประมาณ 80% ส่วนที่เหลือ 20% เป็นการลงทุนของบริษัทฯ โดยในส่วนของจุดขายที่เป็นร้านมีรายได้เฉลี่ย 1.1-1.2 หมื่นรูปี หรือประมาณ 6.5 พันบาทต่อวัน ขณะที่จุดขายที่เป็นซุ้มมีรายได้เฉลี่ย 5 พันรูปี หรือประมาณ 3 พันบาทต่อวัน โดยสินค้าที่จำหน่ายเน้นไก่ทอดทั้งสูตรไทย และสูตรอินเดียเพียง 6-7 เอสเคยู โดยแต่ละจุดขายยังจะมีการเพิ่มเมนูมังสวิรัติประมาณ 20% เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่รับประทานอาหารมังสิวิรัติเป็นจำนวน 50% ของประชากรทั้งหมด
การทำตลาด QSR ในประเทศอินเดียแม้จะมีคู่แข่งมาก และค่อนข้างเสียเปรียบด้านจำนวนจุดขายเนื่องจากเพิ่งเข้าไปทำตลาดได้เพียง 2 ปี แต่เนื่องจากชาวอินเดียยังคงมีอัตราการบริโภคไก่น้อยมากคือ ประมาณ 3.6 กิโลกรัมต่อคนต่อเดือน เมื่อเทียบกับประเทศไทย ซึ่งบริโภคมากถึง 15 กิโลกรัมต่อคนต่อเดือน รัฐบาลอินเดียจึงพยายามกระตุ้นให้ประชาชนบริโภคไก่เพิ่มขึ้นตามผลวิจัยของหน่วยงานประเทศอินเดีย คือ National Institute of Nutrition (NIN) คือ ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อคนต่อเดือน จึงทำให้ตลาดมีโอกาสเติบโตอีกมาก
“ปัจจุบันมูลค่าตลาดเนื้อไก่ในประเทศอินเดียมีประมาณ 7-8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นไก่สด 90% ส่วนที่เหลือ 10% เป็นไก่แปรรูป และไก่ปรุงสำเร็จรูป แต่ละปีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% บริษัทฯ จึงมีแผนขยายตลาดเพิ่มขึ้นด้วยการก่อสร้างโรงงานแปรรูปเนื้อไก่เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ “CP” เช่น ไส้กรอก นักเก็ต และอื่นๆ ด้วยกำลังการผลิต 3 พันตันต่อชั่วโมง โดยลงทุนประมาณ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ บนพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองเชนไนกับเมืองบังกาลอร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2558”
นายซานจีฟ ยังกล่าวถึงการทำตลาดในประเทศเวียดนามว่า บริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจห้าดาวเมื่อประมาณปี 2553 ทั้งในลักษณะร้านเหมือนประเทศอินเดีย และซุ้มเช่นเดียวกับประเทศไทยแต่จะมีขนาดใหญ่กว่า และตกแต่งให้มีความสวยงามกว่า โดยใช้ชื่อแบรนด์ “Five Star Vietnam” โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 500 จุดขาย แบ่งเป็น 450 จุดขายในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศเวียดนามคือเมืองโฮจิมินห์ ซึ่งมีฟาร์มเลี้ยงไก่ และโรงงานผลิตอาหารสัตว์ตั้งอยู่ทางตอนใต้ ทั้งยังมีประชากรมากถึง 40-50% ของจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 90 ล้านคน ส่วนอีก 70 จุดขายตั้งอยู่พื้นที่ตอนเหนือ คือ เมืองฮานอย ซึ่งเพิ่งตั้งฟาร์ม และโรงงานแห่งที่ 2 และมีประชากร 6 ล้านคน
“การดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนามยึดรูปแบบแฟรนไชส์เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 95% เน้นกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น และวัยทำงานตอนต้นชนชั้นกลาง แต่มีสินค้ามากถึง 15-16 เอสเคยู เน้นประเภทไส้กรอก และลูกชิ้น โดยจะเพิ่มเมนูใหม่คือ ไก่จ๊อ เช่นเดียวกับประเทศไทยในช่วงกลางปี 2558 เพราะชาวเวียดนามมีการบริโภคไก่มากถึง 20 กิโลกรัมต่อคนต่อเดือน”
ในช่วงต้นปี 2558 บริษัทฯ จะเพิ่มพื้นที่จุดขายไปยังเมืองดานัง ซึ่งอยู่ในภาคกลางของประเทศและมีประชากรประมาณ 3-4 ล้านคน โดยคาดว่าจะสามารถขยายจุดขายครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศเวียดนามได้ภายใน 5 ปี หลังจากนั้น จะใช้โมเดลธุรกิจในประเทศอินเดีย และเวียดนามทำตลาดประเทศอื่นๆ ในเอเชียต่อไป
“การดำเนินธุรกิจห้าดาวในแต่ละประเทศ บริษัทฯ เน้นใช้ความยืดหยุ่นในการปรับแบรนด์ให้มีความเหมาะสมต่อผู้บริโภคในแต่ละประเทศ โดยคำนึงถึงศาสนา พฤติกรรม วัฒนธรรม และอื่นๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตลาดให้ประสบความสำเร็จ” นายซานจีฟ กล่าวในที่สุด
อนึ่ง ปัจจุบัน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) มีการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ “ห้าดาว” ในประเทศไทย จำนวน 5.5 พันจุดขาย พร้อมกับขยายไปยังประเทศต่างๆ อีก 8 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม 520 จุดขาย, อินเดีย 225 จุดขาย, พม่า 200 จุดขาย, กัมพูชา 140 จุดขาย, บังกลาเทศ 135 จุดขาย, ลาว 5 จุดขาย, มาเลเซีย 3 จุดขาย และจีน 1 จุดขาย