xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น “เรกูเลเตอร์” ถกต้นทุนค่าไฟ 15 ธ.ค.นี้ ก่อนเคาะตรึงหรือลดมอบของขวัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรกูเลเตอร์เตรียมหารือต้นทุนค่าไฟฟ้ากลาง ธ.ค.นี้เพื่อประกาศ Ft งวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 58) ก่อนเคาะมอบเป็นของขวัญปีใหม่คนไทยตามนโยบายรัฐบาล รับยังตอบไม่ได้จะตรึงหรือลดราคา แต่ค่าไฟแนวโน้มไตรมาส 2 ปีหน้าโอกาสลดลงเห็นชัดกว่า
 


นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐไปพิจารณาหาแนวทางมอบของขวัญแก่ประชาชนนั้น ส่วนของการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ที่จะเรียกเก็บในบิลงวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 58) นั้นประมาณ 15 ธ.ค.นี้จะมีการพิจารณาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเบื้องต้น ดังนั้นจึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าทิศทางค่าไฟฟ้าจะมีทิศทางไปในลักษณะใด

“เราก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีการตรึงค่าไฟฟ้าหรือว่าจะลดลงขอดูตัวเลขอีกครั้งก่อน เพราะราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ประมาณ 70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ก็จะมีผลต่อค่าไฟฟ้าให้ต้นทุนลดลงในไตรมาส 2/58 เพราะราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้าผันแปรตามราคาน้ำมันย้อนหลัง 6 เดือน แต่ปีหน้าต้นทุนเอฟทีในส่วนของการสนับสนุนพลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้น คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า14 สต./หน่วย จากผลกระทบปัจจุบันอยู่ที่ 13.9 สต./หน่วย” นายวีระพลกล่าว

สำหรับการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานคงไม่สามารถใช้ได้ทัน ม.ค. 58 คาดจะเริ่มได้ เดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยในส่วนนี้จะทำให้ประสิทธิภาพการดูแลค่าไฟฟ้าดีขึ้น เพราะมีการดูแลการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าที่คาดว่าการลงทุนจะชะลอตัวลงใน 3-5 ปีข้างหน้าหลังเศรษฐกิจชะลอตัว ในขณะเดียวกัน การดูแลเรื่องต้นทุนผันแปร เช่นเงินเดือนสวัสดิการจะไม่ผันแปรตามเงินเฟ้อทั้งหมด จะมีตัวหักลบจากเงินเฟ้อบนพื้นฐานที่เหมาะสม ดังนั้นค่าไฟฟ้าฐานใหม่จะให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายมากขึ้นโดยเฉพาะผู้บริโภค

นายวีระพลกล่าวถึงการจัดสัมมนาหลักเกณฑ์และระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ที่เรกูเลเตอร์ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดขึ้นวันที่ 1 ธ.ค.ว่า ขณะนี้ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และประกาศหลักเกณฑ์การซื้อขายไฟฟ้าเสร็จสิ้นแล้ว รวม 3 โครงการ ประกอบด้วย การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน หรือโซลาร์ฟาร์ม ที่คงค้างจำนวน 1,070 เมกะวัตต์ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 800 เมกะวัตต์ และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟทอป จำนวน 69.39 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนของบ้านอยู่อาศัย ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยอัตราการสนับสนุนทั้ง 3 โครงการในรูปแบบฟีด อินทารีฟ อยู่ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย
กำลังโหลดความคิดเห็น