xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ดันชุมชนเปิดฟาร์มเอาต์เลต ช่วยรับซื้อและขายผลผลิตในท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมการค้าภายใน ดัน “ฟาร์มเอาต์เลต” ช่วยเหลือเกษตรกรขายผลผลิตในท้องถิ่น และช่วยเหลือในการแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่ม หวังสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน (ฟาร์มเอาต์เลต) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตเกษตรไม่ให้ผันผวน เพิ่มมูลค่าผลผลิต เพิ่มช่องทางการจำหน่าย และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาและส่งเสริมศูนย์ดังกล่าวในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยล่าสุด สามารถเปิดฟาร์มเอาต์เลตได้แล้ว 21 แห่ง ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ

“จะส่งเสริมให้แต่ละชุมชนมีฟาร์มเอาต์เลต โดยอาจจะใช้ชุมนุมสหกรณ์ หรือสหกรณ์การเกษตรในชุมชนเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร สินค้าปลอดสารพิษของคนในชุมชน แล้วขายให้คนในชุมชน และชุมชนใกล้เคียง หรือถ้าอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวก็ขายให้นักท่องเที่ยวด้วย เป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน”

นอกจากนี้ กรมฯ จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น ถ้าเป็นแหล่งผลิตผลไม้ หลังจากขายผลไม้คุณภาพดีแล้ว ผลไม้ตกเกรดก็สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ทุเรียนอบกรอบ ทุเรียนทอดกรอบ มังคุดอบ ลำไยอบ ลิ้นจี่อบ แก้วมังกรอบ มะม่วงอบ ข้าวเกรียบหอยนางรม เป็นต้น

สำหรับฟาร์มเอาต์เลตที่ประสบความสำเร็จมากในด้านการตลาด เช่น ที่อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ที่กรมฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมจังหวัดทำข้าวสารบรรจุถุงขายราคาถูก ภายใต้แบรนด์ “ข้าวหอมกาญจน์” ซึ่งช่วงแรกขายเฉพาะคนในชุมชน แต่เมื่อขายดีขึ้น เพราะคุณภาพดีก็เริ่มวางขายในอำเภอ ในจังหวัด โดยสามารถเข้าไปวางขายให้ห้างค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าในจังหวัดได้ และสถานที่ราชการ ตลาดนัด งานธงฟ้า ขณะนี้เริ่มกระจายสินค้าไปยังจังหวัดใกล้เคียงแล้ว และยังมีข้าวชนิดอื่นเพิ่มอีก เช่น ข้าวหอมนิลกาญจน์ โดยราคาข้าวเปลือกหอมจังหวัดที่ชาวนาขายได้ มีราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 13,000 บาท

ทั้งนี้ ฟาร์มเอาต์เลต 21 แห่งใน 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ชัยนาท นครสวรรค์ จันทบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ศรีสะเกษ มุกดาหาร ขอนแก่น นครศรีธรรมราช กระบี่ สุราษฎร์ธานี ระนอง สมุทรสงคราม และฉะเชิงเทรา
กำลังโหลดความคิดเห็น