xs
xsm
sm
md
lg

“ฉัตรชัย” เปิดเวทีชี้แจงกฎหมายต่างด้าว ด้านนักลงทุนต่างชาติชี้ฉบับเดิมคุมเข้มอยู่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ฉัตรชัย” เปิดเวทีชี้แจงนักลงทุนต่างชาติกรณีแก้ไขกฎหมายต่างด้าว ยันอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน คาดได้ข้อสรุปเดือน ธ.ค.นี้ก่อนเสนอ ครม. เผยการแก้ไขจะยึดหลักส่งเสริมลงทุน ลดขั้นตอนทำธุรกิจ และอำนวยความสะดวก แต่ตอบไม่ชัด แก้ไม่แก้นิยามคนต่างด้าว ด้านหอการค้าต่างประเทศในไทยชี้ไทยไม่จำเป็นต้องทำอะไรปิดกั้นลงทุน กฎหมายฉบับเดิมเข้มงวดอยู่แล้ว

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการชี้แจงสถานทูต และหอการค้าประเทศต่างๆ ถึงการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 วานนี้ (26 พ.ย.) ว่า ได้ชี้แจงให้นักลงทุนต่างชาติทราบถึงแนวทางการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนักลงทุนต่างชาติ ยังไม่ได้สรุปผล แต่คาดว่าหลังจากเปิดรับฟังความคิดจะสรุปข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หาก ครม.อนุมัติจึงจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

“มีคนนำร่างการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ที่เป็นผลการศึกษาของกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2549 มาเผยแพร่บนเว็บไซต์ และระบุว่าเป็นร่างที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. ทั้งๆ ที่ร่างดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาจาก ครม.เลย จึงยืนยันว่าตอนนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ยังไม่ได้ข้อสรุปจะแก้ไขอย่างไรใดๆ ทั้งสิ้น” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

ทั้งนี้ ในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จะยึดตามนโยบายของรัฐบาลด้านการลงทุนจากต่างประเทศ 3 ประการ คือ ส่งเสริมการลงทุน ลดขั้นตอนในการทำธุรกิจ และอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และส่งเสริมการค้าลงทุน โดยการปรับปรุงกฎหมายถือเป็นส่วนหนึ่งภายใต้การปฏิรูปประเทศ

สำหรับการแก้ไขคำนิยามของ “คนต่างด้าว” ให้เข้มงวดขึ้น โดยจะดูให้ลึกลงไปถึงอำนาจการบริหารจัดการของคนต่างด้าว และสิทธิในการออกเสียงตามที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่ รวมทั้งจะมีการแก้ปัญหาการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างชาติ (นอมินี) เพื่อให้สามารถทำธุรกิจต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าว หรือทำธุรกิจได้โดยไม่ต้องขออนุญาตนั้น ตนบอกไปแล้วว่าจะแก้ไขกฎหมายนี้ตามหลักสำคัญ 3 ประการ เรื่องอื่นอย่าเพิ่งไปพูดถึง และจะไม่แก้ไขในเรื่องที่จะไม่ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ

นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าต่างประเทศในไทย (เจเอฟซีซีที) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่กระทรวงพาณิชย์เปิดชี้แจงเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพราะมีข่าวออกมาตลอดว่าจะมีการแก้ไข และยังมีการนำร่างแก้ไขที่ทำมาหลายปีแล้วมาเผยแพร่บนเว็บไซต์อีก ทำให้นักลงทุนต่างชาติสับสนมาก ซึ่ง รมว.พาณิชย์พูดชัดเจนถึงแนวทางการแก้ไขที่ต้องเป็นการส่งเสริมการลงทุน ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น แต่นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขคำนิยามของคนต่างด้าว เพราะจะเป็นการทำให้เข้มงวดขึ้น และถือเป็นการปิดกั้นการลงทุนได้

“ประเทศไทยตอนนี้ต้องส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เดี๋ยวนี้นักลงทุนต่างชาติมีเยอะมาก ก็อาจจะไปประเทศอื่นแทน กฎหมายต่างด้าวแบบเดิม ผมว่าเข้มงวดอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ไม่ส่งเสริมการลงทุน แต่ถ้าเปิดให้เข้ามาลงทุนแล้ว ไม่ให้ถือหุ้น หรือมีสิทธิ์ออกเสียง แล้วอย่างนี้เขาจะมาทำไม มาเป็นพาร์ตเนอร์กันดีกว่า ผมว่าวินวินทั้งคู่”

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า การเปิดชี้แจงต่อนักลงทุนต่างชาติครั้งนี้ เพราะมีผู้ไม่ประสงค์ดีต่อรัฐบาลนำร่างการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ที่กระทรวงพาณิชย์ทำขึ้นตั้งแต่ปี 2549 มาเผยแพร่บนเว็บไซต์ และระบุว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติกังวลกันมาก เพราะมีการแก้ไขคำนิยามของคนต่างด้าวให้เข้มงวดขึ้น โดยจะดูถึงอำนาจการบริหารจัดการ และสิทธิในการออกเสียงของคนต่างด้าวเพื่อป้องกันปัญหานอมินี จากเดิมที่จะดูเพียงสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวที่ต้องไม่เกิน 49% และคนไทยไม่ต่ำกว่า 51% ทำให้นักลงทุนประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจากประเทศที่ลงทุนในไทยมากๆ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ยุโรป รวมถึงอาเซียน พยายามล็อบบี้บุคคลในรัฐบาลไทยทุกระดับไม่ให้แก้นิยามของคนต่างด้าว ไม่เช่นนั้นอาจกระทบการลงทุนได้

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามหลักสำคัญ 3 ประการแล้ว ในประเด็นการแก้ไขคำนิยามของคนต่างด้าวให้เข้มงวดขึ้นนั้น มีความเป็นไปได้ว่ากระทรวงพาณิชย์อาจยกเลิกการแก้ไข แต่หากยังจะแก้ไขอยู่ก็น่าจะทำให้ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการลงทุนของต่างชาติ ส่วนประเด็นที่จะแก้ไขแน่นอน เช่น การเพิ่มบทลงโทษกรณีกระทำความผิด การลดระยะเวลาในการขอใบอนุญาต เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น