อุตฯ สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ปีนี้ส่อติดลบหลังโค้งสุดท้ายสิ้นปีเหงา ยอดพิมพ์ปฏิทิน ไดอารีไม่คึกคัก ธุรกิจห้าง ร้านขนาดกลางและเล็กลดสั่งพิมพ์ 50% จากปีที่แล้ว ขณะที่ทิศทางปีหน้าหนังสือพิมพ์ แมกกาซีนยังหงอย ทีวีแข่งเดือดจำนวนช่องมีมากกว่าคนชม ต้องเฟ้นหารายการดึงดูด
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานและประธานคลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เ ปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ปี 2557 คาดว่าจะไม่เติบโตหรืออาจติดลบ 1-2% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว รวมถึงผลกระทบจากการส่งออกที่ถดถอย อย่างไรก็ตาม ปี 2558 จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราเติบโต 3-3.5% และการส่งออกจะโตได้ 4% อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ก็มองว่าจะขยายตัวได้ 4-5% เป็นอย่างต่ำ
“คงต้องติดตามทิศทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศปีหน้าว่าจะไปในทิศทางใด ซึ่งมองภายในประเทศรัฐบาลเองก็มีงบประมาณที่จะออกมากระตุ้นหลายแสนล้านบาทก็น่าจะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระเตื้องขึ้น ส่วนส่งออกยอมรับว่าตลาดอเมริกาเริ่มฟื้นตัว แต่ตลาดอื่นๆ อย่างสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีนยังไม่ชัดเจนนัก หากดีก็จะทำให้อุตสาหกรรมนี้ภาพรวมจะขยายตัวมากขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับโค้งสุดท้ายช่วงสิ้นปีตลาดสิ่งพิมพ์ฯ ในประเทศโดยรวมจะเป็นช่วงไฮซีซัน แต่ปีนี้กลับไม่คึกคักนักเนื่องจากลูกค้าที่เป็นธุรกิจห้างร้านขนาดกลางและขนาดเล็กลดการสั่งพิมพ์ปฏิทินและไดอารีรวมถึงของชำร่วยที่เป็นสิ่งพิมพ์ลดลงมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 50% ขณะที่บริษัทห้างร้านขนาดใหญ่ ธนาคาร และรัฐวิสาหกิจก็ใช้งบประมาณในการพิมพ์เท่าเดิมไม่ได้มีการขยายเพิ่มเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการส่งออกที่ชะลอตัว ส่วนการพิมพ์ ส.ค.ส.ปีใหม่ และการ์ดอวยพรก็ลดลง 20-30% จากช่วงเดียวกันปีก่อนเนื่องจากประชาชนนิยมอวยพรผ่านมือถือมากขึ้นจึงทำให้ภาพรวมของกลุ่มนี้ช่วงสิ้นปีลดลงเฉลี่ย 15-20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ปี 2558 อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในส่วนของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร (แมกกาซีน) ไม่มีการขยายตัวเพิ่ม แต่อาจมีโอกาสเห็นการปรับลดตัวลงเนื่องจากพฤติกรรมของผู้อ่านเริ่มหันไปนิยมใช้บริการสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นเพราะสะดวก และข่าวสารรวดเร็วกว่า และที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ดังนั้นอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์จะยังคงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดด้วยการนำข้อมูลไปผูกติดกับสื่อออนไลน์
ส่วนสื่อทีวีจะมีการแข่งขันค่อนข้างมากในการนำเสนอรูปแบบและเนื้อหาที่ดีและต้องมีคุณภาพเพื่อความอยู่รอด เนื่องจากมีจำนวนสื่อทั้งฟรีทีวี สื่อดิจิตอล ทีวีดาวเทียม จำนวนช่องนั้นมีมากกว่าคนดูค่อนข้างมาก การเลือกเวลา และรายการต่างๆ จึงต้องมีการคัดสรรอย่างดีไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถเรียกคนดูได้ ขณะเดียวกันยังต้องได้รับแรงกดดันจากการที่ค่าโฆษณาสื่อที่ยังคงมีราคาถูกแต่ค่าใช้จ่ายยังสูงอีกด้วย
“ทีวีจะแข่งขันสูงมากในปี 2558 อย่างรายการข่าวก็เป็นช่วงเดียวกันและเหมือนกันซึ่งคนดูเองมากสุดคงดูพร้อมกันได้แค่ 2 ช่องก็แย่แล้ว จะทำอย่างไรในการนำเสนอจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักถือว่าจะมีแรงกดดันสูงมาก” นายเกรียงไกรกล่าว