“ฉัตรชัย” ถกอุตสาหกรรมยางช่วยดันยอดส่งออกและเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ หวังช่วยผลักดันราคายางพาราให้สูงขึ้น พร้อมตั้งกลุ่มคลัสเตอร์วางแผนแก้ไขปัญหาอุปสรรคแบบเจาะลึก กลุ่มถุงมือยางเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศเป็น 1 แสนตัน
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา ได้แก่ ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยางพาราและผู้ประกอบอุตสาหกรรมถุงมือยาง ว่า ได้หารือเพื่อช่วยกันผลักดันการส่งออก และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการใช้ยางภายในประเทศ โดยจะให้ภาคอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่มไปจัดแบ่งคลัสเตอร์ และนำข้อเสนอมาประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในรอบต่อไป คาดว่าประมาณสัปดาห์หน้า และจะมีการจัดประชุมหารือในลักษณะแบบนี้อย่างต่อเนื่อง
“ได้มีการพูดคุยกับบริษัทใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาง เพื่อให้ช่วยกันผลักดันการส่งออกและเพิ่มมูลค่าในประเทศ เพื่อผลักดันให้ราคายางปรับตัวดีขึ้น ซึ่งวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะเป็นการประชุมกลุ่มใหญ่ แต่ให้แบ่งเป็นกลุ่มคลัสเตอร์และมาประชุมร่วมกันอีกครั้ง” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
ทั้งนี้ ภาคเอกชนขอให้ภาครัฐช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการส่งออกและการผลิตยางพารา ทั้งการแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมาย โดยหากพบว่าเกี่ยวข้องกับกระทรวงใดก็จะมีการเชิญมาหารือร่วมกับผู้ประกอบการ เช่น ถุงมือยาง มีประเด็นที่ต้องหารือกับทางองค์การอาหารและยา (อย.) ก็จะเชิญมาหารือในกลุ่มคลัสเตอร์ รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะต้องมาทำความเข้าใจกับกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ยางพารา
นายอนันต์ พฤกษานุศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเซมเพอร์เมด ในกลุ่มศรีตรัง กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตถุงมือยางอันดับ 1 ในไทย และมียอดส่งออกถุงมือยางติด 1 ใน 5 ของโลก โดยแนวทางที่บริษัทจะเข้ามาช่วยเหลือเพื่อผลักดันให้มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้น โดยจะเพิ่มสัดส่วนให้มีการใช้ยางพารามาผลิตสินค้าจาก 50% เพิ่มเป็น 60% อีก 40% ยังเป็นการผลิตสินค้าจากยางสังเคราะห์ เชื่อว่าแผนดังกล่าวจะทำให้ปีนี้เพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติมาผลิตสินค้าจาก 6-7 หมื่นตัน เป็น 1 แสนตัน หรือเพิ่มอีก 40% เชื่อว่าน่าจะทำให้ราคารับซื้อยางในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยราคารับซื้อยาง 60 บาท/กก. น่าจะเป็นระดับที่ภาครัฐและเกษตรกรพอใจ
ส่วนยอดการส่งออกถุงมือยางไม่ได้มีปัญหาเรื่องตัวเลขส่งออกลดลง โดยแต่ละปีมียอดส่งออกเพิ่มขึ้นปีละ 5% มูลค่าส่งออกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่ปัญหาคือ การใช้ยางภายในประเทศที่ต้องเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น ซึ่งในการประชุมรอบหน้าของกลุ่มจะเสนอมาตรการระยะสั้นในเรื่องของการใช้วัตถุดิบให้มากขึ้น และเสนอวิธีการที่ต้องนำยางส่วนเกิน 5 แสนตันออกจากตลาดเพื่อผลักดันด้านราคายาง
นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ทำโรดแมปเสนอต่อรัฐบาลแล้ว โดยวางเป้าหมายที่จะผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางจากปัจจุบัน 6 แสนล้านบาท ให้ถึง 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563 โดยได้เสนอให้รัฐสนับสนุนการพัฒนาและวิจัยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ด้วยการตั้งหน่วยวิจัยยางพาราแปรรูปกลางเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมและการเรียนรู้ เพราะปัจจุบันใช้ยางพาราเพื่อการแปรรูปแค่ 12.5% ของกำลังผลิตรวม และ 87.5% ยังเป็นการพึ่งพาการส่งออก
“ได้เสนอให้เพิ่มแรงจูงใจให้เอกชน โดยลดภาษีการดำเนินการเพื่อการวิจัยจากเดิม 200% เป็น 300% และปรับเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน หากทุกฝ่ายร่วมมือกันเชื่อว่าจะเพิ่มการใช้ยางธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมได้ทันที 1 แสนตัน โดยสัปดาห์หน้ากลุ่มอุตสาหกรรมก็จะหารือเพื่อจัดทำรายละเอียดและนำเสนอรัฐต่อไป”
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ดูแนวโน้มความต้องการและราคายางโลกไม่น่าจะลดลงกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาราคายางพุ่งสูงขึ้นผิดปกติ เนื่องจากหลายประเทศกังวลความต้องการใช้ยางจะสูงขึ้น ทำให้เร่งซื้อเก็บเข้าสต๊อก แต่เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติราคายางก็เริ่มลดลง โดยแนวโน้มความต้องการใช้ยางในอนาคตจะยังเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ราคาในตลาดโลกเพิ่มขึ้น