xs
xsm
sm
md
lg

"LNG" คำตอบของความมั่นคงพลังงานไทย

เผยแพร่:

การใช้พลังงานของโลกในอนาคตอันใกล้กำลังจะย้ายจากปิโตรเลียมไปสู่ก๊าซธรรมชาติด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการคือก๊าซฯเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการค้นพบก๊าซฯในชั้นหินดินดานหรือที่เรียกว่าเชลล์ก๊าซฯ (Shale Gas) ทำให้ปริมาณสำรองก๊าซฯของโลกได้ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ 100 ปีและสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังจับตาอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตามก๊าซฯที่กระจายอยู่ตามแหล่งต่างๆ แต่การขนส่งผ่านระบบท่อในระยะไกลไม่คุ้มทุนจึงมีเทคโนโลยีที่ทำให้ก๊าซกลายเป็นของเหลวหรือที่เรียกว่า LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ซึ่ง LNG มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทนประมาณ 75-90% ผ่านการแยกเอาสิ่งเจือปลอมออกจากนั้นลดอุณหภูมิลบ 160 องศาเซนเซียสเพื่อแปรสภาพก๊าซให้เป็นของเหลวทำให้ปริมาตรลดลง 600 เท่าซึ่งสะดวกต่อการขนส่งทางเรือ โดยญี่ปุ่นเป็นชาติแรกในโลกที่นำเข้า LNG โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1960

สาเหตุสำคัญในอดีตที่ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจนำเข้า LNG แม้ว่าราคาLNGจะแพงในขณะนั้นก็ตามเนื่องจากญี่ปุ่นต้องการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังประสบปัญหาหนักจากการเร่งพัฒนาด้านอุตสาหกรรม แต่เมื่อเกิดภาวะวิกฤติราคาน้ำมันแพงในอดีตที่ผ่านมา “ญี่ปุ่น”ถือเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยด้วยเป็นเพราะมีการสต็อก LNG ไว้จำนวนมากนั่นเอง และปัจจุบันญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำเข้า LNG รายใหญ่สุดของโลก ด้วยปริมาณสูงถึง 87 ล้านตันในปีที่ผ่านมา คิดเป็น 36.6%ของ LNG ทั้งโลกรองลงมาเป็นเกาหลี และไต้หวัน

ด้วยประสบการณ์การนำเข้า LNG ญี่ปุ่นกว่า 50 ปีทำให้บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน)ได้นำคณะสื่อมวลชนมาศึกษาดูงานบริษัท โตเกียว ก๊าซ (TOKYO Gas )ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้า LNG รายใหญ่สุดของญี่ปุ่นและที่สำคัญยังเป็นบริษัทที่ปรึกษาในการก่อสร้างคลัง LNG ของปตท.อีกด้วย โดยบริษัทฯมีสถานีรับ LNG หรือ LNG Terminal แห่งแรกของญี่ปุ่นที่ Negishi เมืองโยโกฮามา ก่อสร้างเมื่อปี 1966คลัง LNG ของโตเกียว ก๊าซ มีทั้งสิ้น 3 แห่งจากทั้งหมดในญี่ปุ่น 32 แห่ง โดยคลังใต้ดินของโตเกียวก๊าซฯล่าสุดมีขนาด 2.5 แสนลูกบาศก์เมตรอยู่ที่ โอกิชิมะ ซึ่งถือเป็นคลังใหญ่สุดในโลก โดยคลังใต้ดินมีข้อดีคือจะยืดหยุ่นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวและที่สำคัญไม่กระทบทัศนียภาพ

สถานีLNG แห่งนี้ยังเชื่อมกับระบบ City Gas โดย 80% จะถูกส่งไปยังเมืองเพื่อป้อนภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม และ20% จะถูกส่งไปยังโรงไฟฟ้าโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์โดยลูกค้าของบริษัททั้งโดยตรงและผ่านการขายให้กับบริษัทอื่นๆ ที่เป็นภาคครัวเรือนจะมีถึง 10 ล้านคนแต่ปริมาณที่ส่งมากสุดเป็นภาคอุตสาหกรรม ซึ่งลูกค้าบางรายที่อยู่นอกเขตท่อก๊าซฯผ่านบริษัทจะใช้วิธีการขนส่งทางรถในการให้บริการแทน

ทั้งนี้ LNG ที่นำเข้ามานั้นทางโตเกียว ก๊าซ จะมาจากหลายแหล่งทั้งจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และรวมถึงอลาสก้า ซึ่งเป็นเชลล์แก๊สด้วย อย่างไรก็ตาม LNG แต่ละแหล่งมีค่าความร้อนไม่เท่ากันและต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 44 เมกะจูน(MJ) บริษัทฯจึงต้องเติมก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือ LPG ผสมเข้าไปเพื่อทำให้ค่าความร้อนอยู่ในมาตรฐานที่กำหนด ประกอบกับทำให้เกิดกลิ่นเมื่อเวลาเกิดการรั่วไหลก็จะได้รับรู้

สำหรับประเทศไทยนั้นโชคดีที่ไม่ต้องนำเข้ามา 100% เช่นญี่ปุ่นเพราะไทยพบแหล่งก๊าซฯในอ่าวไทย และอีกส่วนนำเข้าจากพม่าที่ไม่ไกลเกินไปนักจึงมีการขนส่งผ่านทางท่อก๊าซฯได้แต่กระนั้นแหล่งก๊าซฯอ่าวไทยในระยะยาวก็จะเริ่มลดลงการค้นพบแหล่งขนาดใหญ่ในไทยก็เหลือไม่มาก ประกอบกับก๊าซ 2 แหล่งมีความค่าร้อนต่างกันโดยฝั่งพม่าต่ำซึ่งมาตรฐานของไทยอยู่ที่ 38 เมกะจูนจึงต้องใช้วิธีเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป

เพื่อความมั่นคงรัฐบาลที่ผ่านมาจึงได้อนุมัติให้ปตท.ได้มีการก่อสร้างคลัง LNG เฟสแรกแล้วที่มาบตาพุดและกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างคลังเฟสที่ 2 ซึ่งโตเกียว ก๊าซฯเป็นที่ปรึกษาการก่อสร้างคาดจะเสร็จปี 2560 รวม 2 เฟส 10 ล้านตันลงทุนรวม 5 หมื่นล้านบาท และกำลังเสนอกระทรวงพลังงานสร้างเฟส 3 อีก 5 ล้านตันในพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับความต้องการในอนาคตและยังมีส่วนสำคัญในการนำมาปรับค่าความร้อนของก๊าซฯจากพม่าที่ค่าความร้อนต่ำได้

“สัญญาซื้อLNG ระยะยาว 20 ปีเราทำไว้กับการ์ตาร์แล้วซึ่งเรือล็อตแรกจะมาถึงไทยม.ค. 58 นี้แต่ปตท.คงจะนำแนวทางของโตเกียว ก๊าซฯที่มีการกระจายแหล่งรับซื้อ LNG โดยจะมองแหล่งเพิ่มไปยังสหรัฐอเมริกา แอฟริกา รัสเซีย รวมถึงการที่เราไปลงทุนที่โมซัมบิก ออสเตรเลีย ส่วนหนึ่งก็จะได้ LNG เข้ามาด้วยแต่จะเน้นสัญญาระยะยาว 70-80% ที่เหลือจะซื้อในตลาดจร ซึ่งผมอยากให้มอง LNG ที่เป็นคลังสำรองของไทยมากกว่าอย่างอื่นเพราะเก็บสต็อกก๊าซฯได้หากท่อเป็นอะไรไปที่ผ่านมาก็เห็นว่ากระทบต่อการผลิตไฟทันทีจึงถือว่าเป็นทางหนีไฟของประเทศครับ”นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บมจ.ปตท.กล่าวย้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น