xs
xsm
sm
md
lg

“LNG” คำตอบของความมั่นคงพลังงานไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การใช้พลังงานของโลกในอนาคตอันใกล้กำลังจะย้ายจากปิโตรเลียมไปสู่ก๊าซธรรมชาติด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ ก๊าซฯ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการค้นพบก๊าซฯ ในชั้นหินดินดานหรือที่เรียกว่าเชลล์ก๊าซฯ (Shale Gas) ทำให้ปริมาณสำรองก๊าซฯ ของโลกได้ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ 100 ปี และสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังจับตาอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ก๊าซฯ ที่กระจายอยู่ตามแหล่งต่างๆ แต่การขนส่งผ่านระบบท่อในระยะไกลไม่คุ้มทุน จึงมีเทคโนโลยีที่ทำให้ก๊าซกลายเป็นของเหลวหรือที่เรียกว่า LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ซึ่ง LNG มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทนประมาณ 75-90% ผ่านการแยกเอาสิ่งเจือปลอมออก จากนั้นลดอุณหภูมิลบ 160 องศาเซลเซียสเพื่อแปรสภาพก๊าซให้เป็นของเหลวทำให้ปริมาตรลดลง 600 เท่าซึ่งสะดวกต่อการขนส่งทางเรือ โดยญี่ปุ่นเป็นชาติแรกในโลกที่นำเข้า LNG โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1960

สาเหตุสำคัญในอดีตที่ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจนำเข้า LNG แม้ว่าราคา LNG จะแพงในขณะนั้นก็ตาม เนื่องจากญี่ปุ่นต้องการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังประสบปัญหาหนักจากการเร่งพัฒนาด้านอุตสาหกรรม แต่เมื่อเกิดภาวะวิกฤตราคาน้ำมันแพงในอดีตที่ผ่านมา “ญี่ปุ่น” ถือเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยด้วยเป็นเพราะมีการสต๊อก LNG ไว้จำนวนมากนั่นเอง และปัจจุบันญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำเข้า LNG รายใหญ่สุดของโลก ด้วยปริมาณสูงถึง 87 ล้านตันในปีที่ผ่านมา คิดเป็น 36.6%ของ LNG ทั้งโลกรองลงมาเป็นเกาหลี และไต้หวัน

ด้วยประสบการณ์การนำเข้า LNG ญี่ปุ่นกว่า 50 ปี ทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้นำคณะสื่อมวลชนมาศึกษาดูงานบริษัท โตเกียว ก๊าซ (TOKYO Gas) ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้า LNG รายใหญ่สุดของญี่ปุ่น และที่สำคัญยังเป็นบริษัทที่ปรึกษาในการก่อสร้างคลัง LNG ของ ปตท.อีกด้วย โดยบริษัทฯ มีสถานีรับ LNG หรือ LNG Terminal แห่งแรกของญี่ปุ่นที่ Negishi เมืองโยโกฮามา ก่อสร้างเมื่อปี 1966 คลัง LNG ของโตเกียว ก๊าซ มีทั้งสิ้น 3 แห่งจากทั้งหมดในญี่ปุ่น 32 แห่ง โดยคลังใต้ดินของโตเกียวก๊าซฯ ล่าสุดมีขนาด 2.5 แสนลูกบาศก์เมตรอยู่ที่โอกิชิมะ ซึ่งถือเป็นคลังใหญ่สุดในโลก โดยคลังใต้ดินมีข้อดีคือจะยืดหยุ่นเมื่อเกิดแผ่นดินไหว และที่สำคัญไม่กระทบทัศนียภาพ

สถานี LNG แห่งนี้ยังเชื่อมกับระบบ City Gas โดย 80% จะถูกส่งไปยังเมืองเพื่อป้อนภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม และ 20% จะถูกส่งไปยังโรงไฟฟ้าโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โดยลูกค้าของบริษัททั้งโดยตรงและผ่านการขายให้กับบริษัทอื่นๆ ที่เป็นภาคครัวเรือนจะมีถึง 10 ล้านคน แต่ปริมาณที่ส่งมากสุดเป็นภาคอุตสาหกรรม ซึ่งลูกค้าบางรายที่อยู่นอกเขตท่อก๊าซฯ ผ่านบริษัทจะใช้วิธีการขนส่งทางรถในการให้บริการแทน

ทั้งนี้ LNG ที่นำเข้ามานั้นทางโตเกียว ก๊าซ จะมาจากหลายแหล่งทั้งจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และรวมถึงอะแลสกา ซึ่งเป็นเชลล์แก๊สด้วย อย่างไรก็ตาม LNG แต่ละแหล่งมีค่าความร้อนไม่เท่ากันและต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 44 เมกะจูน(MJ) บริษัทฯ จึงต้องเติมก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือ LPG ผสมเข้าไปเพื่อทำให้ค่าความร้อนอยู่ในมาตรฐานที่กำหนด ประกอบกับทำให้เกิดกลิ่นเมื่อเวลาเกิดการรั่วไหลก็จะได้รับรู้

สำหรับประเทศไทยนั้นโชคดีที่ไม่ต้องนำเข้ามา 100% เช่นญี่ปุ่นเพราะไทยพบแหล่งก๊าซฯ ในอ่าวไทย และอีกส่วนนำเข้าจากพม่าที่ไม่ไกลเกินไปนักจึงมีการขนส่งผ่านทางท่อก๊าซฯ ได้ แต่กระนั้นแหล่งก๊าซฯ อ่าวไทยในระยะยาวก็จะเริ่มลดลง การค้นพบแหล่งขนาดใหญ่ในไทยก็เหลือไม่มาก ประกอบกับก๊าซสองแหล่งมีค่าความร้อนต่างกันโดยฝั่งพม่าต่ำซึ่งมาตรฐานของไทยอยู่ที่ 38 เมกะจูนจึงต้องใช้วิธีเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป

เพื่อความมั่นคงรัฐบาลที่ผ่านมาจึงได้อนุมัติให้ ปตท.ได้มีการก่อสร้างคลัง LNG เฟสแรกแล้วที่มาบตาพุดและกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างคลังเฟสที่ 2 ซึ่งโตเกียว ก๊าซฯ เป็นที่ปรึกษาการก่อสร้างคาดจะเสร็จปี 2560 รวม 2 เฟส 10 ล้านตันลงทุนรวม 5 หมื่นล้านบาท และกำลังเสนอกระทรวงพลังงานสร้างเฟส 3 อีก 5 ล้านตันในพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับความต้องการในอนาคตและยังมีส่วนสำคัญในการนำมาปรับค่าความร้อนของก๊าซฯ จากพม่าที่ค่าความร้อนต่ำได้

“สัญญาซื้อ LNG ระยะยาว 20 ปีเราทำไว้กับกาตาร์แล้ว ซึ่งเรือล็อตแรกจะมาถึงไทย ม.ค. 58 แต่ ปตท.คงจะนำแนวทางของโตเกียว ก๊าซฯ ที่มีการกระจายแหล่งรับซื้อ LNG โดยจะมองแหล่งเพิ่มไปยังสหรัฐอเมริกา แอฟริกา รัสเซีย รวมถึงการที่เราไปลงทุนที่โมซัมบิก ออสเตรเลีย ส่วนหนึ่งก็จะได้ LNG เข้ามาด้วยแต่จะเน้นสัญญาระยะยาว 70-80% ที่เหลือจะซื้อในตลาดจร ซึ่งผมอยากให้มอง LNG ที่เป็นคลังสำรองของไทยมากกว่าอย่างอื่นเพราะเก็บสต๊อกก๊าซฯ ได้หากท่อเป็นอะไรไป ที่ผ่านมาก็เห็นว่ากระทบต่อการผลิตไฟทันทีจึงถือว่าเป็นทางหนีไฟของประเทศครับ” นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.กล่าวย้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น