xs
xsm
sm
md
lg

เคเบิล-ดาวเทียมค้านเรียงช่อง อัด “กสทช.” อุ้มแต่ทีวีดิจิตอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - กสทช.เปิดประชาพิจารณ์ หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ 30 เสียง ถล่มการทำงาน กสทช. ไม่เห็นด้วยกับการเรียงช่อง 1-36 มองไม่เป็นธรรมแก่เคเบิล/ทีวีดาวเทียม แต่สนับสนุนการเรียงช่องเดียวกันในทุกแพลตฟอร์มเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ชม

วันนี้ (5 พ.ย.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้จัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. .... โดยภายในงานมีผู้ลงชื่อทั้งจากกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปกว่า 30 ราย ร่วมแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการที่ กสทช.บังคับให้มีการเรียงช่องทีวีดิจิตอล หมายเลข 1-36 ในทุกแพลตฟอร์ม

เสียงส่วนใหญ่มองว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ลงทุนเองทั้งหมดและไม่ได้ใช้ทรัพยากรของชาติ ควรให้เจ้าของบ้าน หรือผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถตัดสินใจเรียงช่องเองได้ แต่บางส่วนเห็นด้วยกับการเรียงช่องครั้งนี้เนื่องจากแต่ละช่องมีมูลค่าจากการประมูลช่องทีวีดิจิตอลในราคาที่สูง แต่สำคัญที่สุดเห็นใจทั้งกลุ่มเคเบิล/ทีวีดาวเทียม และ กสทช. โดยหวังว่าจะสามารถหาทางออกร่วมกัน ให้เกิดการเรียงช่องโดยจะเริ่มที่เลขใดก็ได้เพื่อผู้ชมจะได้ไม่สับสน

พันเอก นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า การจัดประชาพิจารณ์ครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งที่ 1 หลังจากออกประกาศฉบับเดิมที่ให้เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมมี 10 ช่องแรก และมีการเรียงช่องทีวีดิจิตอลที่หมายเลข 16-46 โดยหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. .... ครั้งนี้ถือเป็นฉบับแก้ไขหลังจากที่ถูกฟ้องจากผู้ประกอบการเคเบิลทีวีบางรายที่มองว่า เลขช่อง 1-10 ช่องแรกไม่เป็นธรรม กสทช.จึงกำหนดให้เลข 1-36 เป็นการเรียงช่องทีวีดิจิตอลในทุกแพลตฟอร์มเพื่อประชาชนจะได้เข้าใจตรงกัน และเคเบิล/ทีวีดาวเทียมจะง่ายในการกำหนดช่องมากขึ้น

“การเปิดประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ไม่ได้กำหนดแนวทางอะไรไว้ เพียงเปิดให้ทุกฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยและบางส่วนยังเข้าใจไม่ถูกต้อง โดยหลังจากนี้ กสท.จะนำข้อมูลมาประกอบการพิจาณาจัดเรียงช่องต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการแสดงความคิดเห็นนั้น หลายรายไม่เห็นด้วยกับหลักการฯ ในครั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ยอมรับได้ในการเรียงช่องที่เหมือนกันในทุกแพลตฟอร์ม แต่ไม่จำกัดว่าจะเริ่มที่ช่องใด

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การจัดเรียงช่องทีวีดิจิตอลตั้งแต่เลข 1-36 ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการเคเบิลทีวี/ทีวีดาวเทียม เพราะเป็นกลุ่มที่ลงทุนเองไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐและไม่ได้ใช้ทรัพยากรของชาติ ควรให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีการพูดคุยกันเองในการกำหนดการเรียงช่องทีวีดิจิตอลได้เอง

สอดคล้องกับ นางศุภสรณ์ โหรชัยยะ ผู้แทนบริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า การนำช่องรายการของทรูวิชั่นส์ไปให้ทีวีดิจิตอลออกอากาศตั้งแต่เลข 1-36 นั้นเสมือนเป็นการริบทรัพย์สินของบริษัท และ กสทช.เลือกปฏิบัติระหว่างผู้ประกอบการของ กสทช. กับผู้ประกอบการเคเบิลดาวเทียม ดังนั้นร่างประกาศดังกล่าวไม่ได้ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ได้อย่างทั่วถึงและไม่ได้ก่อประโยชน์อย่างแท้จริง อีกทั้งเป็นการผลักภาระการเปลี่ยนผ่านของทีวีดิจิตอลมายังผู้ให้บริการเคเบิลดาวเทียม แทนโครงข่ายที่ยังติดตั้งไม่เรียบร้อย

ด้าน ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเรียงช่องทีวีดิจิตอลเป็นเรื่องที่ล้าสมัย อีกทั้งมองว่าไม่ใช่เรื่องระดับชาติ จึงไม่เห็นด้วยในการพิจารณาจัดเรียงช่อง 1-36 ในครั้งนี้ แต่มองว่าควรมองเรื่องของอนาคต ผู้ชมไม่สนใจเรื่องเลขช่องมากกว่าประเภทช่อง ดังนั้น กสทช.จึงควรที่จะให้ความสำคัญต่อประเภทช่องมากกว่าการเรียงช่อง

ขณะที่ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยกับการเรียงช่องในครั้งนี้ โดยมองว่าเคเบิลดาวเทียมไม่ได้เสียประโยชน์ เพราะเดิมเลข 1-10 ที่มีอยู่ไม่ได้ประโยชน์อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเลขช่องของฟรีทีวีเดิม ถือเป็นประโยชน์แก่ทางเคเบิลดาวเทียมด้วยซ้ำที่มีการเรียงเลขช่องเหมือนกันในทุกแพลตฟอร์ม

อย่างไรก็ตาม มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนที่สรุปได้ว่า ต้องการที่จะเห็นการเรียงช่องเกิดขึ้นและเหมือนกันในทุกแพลตฟอร์มและจะเริ่มที่เลขใดก็ได้ โดยเห็นใจทั้งสองฝ่าย คือ ผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิตอล และเคเบิลดาวเทียม รวมถึง สทช.


กำลังโหลดความคิดเห็น