เอสเอ็มอีญี่ปุ่น 100-200 รายจ่อเข้าลงทุนไทยเพิ่ม ล็อบบี้ไทยปลดล็อกกฎหมายเข้มจ้างแรงงาน หวังดันผู้เชี่ยวชาญเกษียณอายุญี่ปุ่นเข้ามาทำงานในไทยเพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มด้วย และให้ลดขั้นตอนการอนุญาตต่างๆ ลง พร้อมหาที่ลงทุนเพื่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ก.อุตฯ รับปากเตรียมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายคิโยชิ อุเอดะ ผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยภายหลังการเข้าพบนายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือด้านการลงทุนเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ว่า ที่ผ่านมาทางจังหวัดไซตามะได้ร่วมลงนามกับกระทรวงอุตสาหกรรม 22 ส.ค. 56 เพื่อความร่วมมือในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งมีภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 97 ราย และมีอีกจำนวนมาก 100-200 รายที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม ดังนั้นจึงต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนเอสเอ็มอี 3 เรื่อง ได้แก่ การขอผ่อนปรนเงื่อนไขกรณีการขอใบอนุญาตทำงานที่กำหนดให้จ้างต่างด้าว 1 คนต้องจ้างแรงงานไทยทำงาน 4 คน
“กฎหมายดังกล่าวคือเมื่อจ้างผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น 1 คนต้องจ้างคนไทย 4 คน ซึ่งขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นที่เป็นผู้สูงอายุที่เกษียณอายุแล้วและเป็นผู้เชี่ยวชาญก็อยากมาทำงานในไทยมากขึ้น จึงอยากให้ผ่อนผันเรื่องใบอนุญาตทำงานหรือ Work permit ในประเด็นนี้ ว่าให้พิจารณาตามกรณีได้หรือไม่ เพราะกำลังของเอสเอ็มอีมีจำกัดในการจ้างแรงงานจำนวนมากก็อยากให้ช่วยดูซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็รับปาก ซึ่งหากผ่อนผันฝ่ายไทยก็จะได้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและได้การท่องเที่ยวเพราะจะมีครอบครัวตามมาด้วย ฝ่ายญี่ปุ่นก็จะลดค่าใช้จ่าย” นายคิโยชิกล่าว
สำหรับเรื่องที่ 2 ปัจจุบันพบว่าเอสเอ็มอีส่วนหนึ่งได้สนใจที่จะมาลงทุนแบบลำพังมากขึ้นแต่ไม่ได้มีทุนทรัพย์มากนัก หากไทยมีขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจต่างๆ ล่าช้าก็จะมีผลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จึงต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมลดขั้นตอนการขออนุญาตที่เกี่ยวข้องให้กระชับในเรื่องของเวลาให้ลดน้อยลง และ 3. การลงทุนเอสเอ็มอีที่มีมาต่อเนื่อง จึงต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแนวทางการจัดหาที่ดินหรือนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะพิจารณาผ่อนผันใบอนุญาตตามที่ทางญี่ปุ่นร้องขอ รวมถึงประสานไปยังการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่จะดูในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ลงทุนโดยเฉพาะสำหรับเอสเอ็มอีซึ่งคงจะต้องเป็นลักษณะของการสร้างโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า
“นิคมฯ สำหรับเอสเอ็มอีนั้นเราคงมองในเรื่องของโรงงานสำเร็จรูปให้เช่ามากกว่า ซึ่งอาจเป็น กนอ.ลงทุนหรือเอกชนก็ได้เพราะเอกชนเองก็มีที่อยู่และสนใจ 2-3 ราย แต่จะให้ดีคือทางญี่ปุ่นควรจะจับกลุ่มมาแล้วหารือเพราะหากก่อสร้างไปก่อนก็อาจจะมีปัญหาว่าไม่มีใครมาอยู่” นายปราโมทย์กล่าว
ปัจจุบันไทยโดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับจังหวัดต่างๆ ของญี่ปุ่นแล้ว 6 จังหวัดเพื่อความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมที่จะเน้นการเชื่อมโยงเทคโนโลยีเป็นหลัก ได้แก่ 1. ไซตามะ 2. ยามานาชิ 3. โตโตริ 4. อะคิตะ 5. ชิมาเนะ 6. ไอชิ โดยจังหวัดไซตามะเป็นจังหวัดที่มีเอสเอ็มอีเข้ามาลงทุนในไทยมากสุดในปัจจุบัน และในญี่ปุ่นจังหวัดไซตามะก็มีการลงทุนมากสุดเช่นกัน โดยอุตสาหกรรมหลักได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ฯลฯ