กฟผ.ทุ่มเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาทใน 10 ปีนี้เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่และทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุลง รวมทั้งลุยโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งสิ้น 8.74 พันเมกะวัตต์เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต โดยแหล่งเงินทุนส่วนหนึ่งมาจากการเสนอขายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 2 หมื่นล้านบาทที่คาดว่าจะเสนอขายได้ในต้นปีหน้า
นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ใน 10 ปีข้างหน้า กฟผ.มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ขนาดใหญ่ของ กฟผ. ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงและโรงไฟฟ้าใหม่ที่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวฉบับปัจจุบัน (PDP) รวมทั้งสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน คิดเป็นกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 8,744 เมกะวัตต์ ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท
การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุ มีจำนวนรวม 6,360 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนโรงที่ 4-7 กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าบางปะกง ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม 1,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทน 1,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับโรงที่ 2 กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเขื่อนศรีนครินทร์ ทดแทน 360 เมกะวัตต์
ส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมีทั้งหมด 1,844 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังน้ำขนาดเล็กตามพื้นที่เขื่อนต่างๆ 1,735.75 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 57.25 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานลม 78 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานชีวมวลจากหญ้าเนเปียร์ 13 เมกะวัตต์
โดยในปี 2558 การดำเนินงานโครงการพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ.จะดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินทร ขนาด 0.25 เมกะวัตต์ การศึกษาความเหมาะสมโครงการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ กฟผ.ระยะที่ 1 (COD) ปี 2560-2563 กำลังผลิต 38 เมกะวัตต์ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวลพลังความร้อนแสงอาทิตย์แม่เมาะ 9 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนคลองตรอน 2.5 เมกะวัตต์ โครงการพลังน้ำท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์ 1.25 เมกะวัตต์ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำบ้านจันเดย์ จ.กาญจนบุรี 18 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ 800 เมกะวัตต์ เป็นต้น
สำหรับแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่นี้จะมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน 70% ที่เหลือเป็นส่วนทุนของ กฟผ. ซึ่งไม่มีปัญหาในการจัดหาเงินทุนเนื่องจากอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ และ กฟผ.ออกเสนอขายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) โดยใช้รายได้หรือกระแสเงินสดของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือเป็นสินทรัพย์ในการระดมทุน 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนโรงไฟฟ้าและระบบส่งใหม่ของ กฟผ. ขณะนี้ กฟผ.ได้ส่งเรื่องดังกล่าวต่อกระทรวงพลังงานเพื่ออนุมัติก่อนเสนอกระทรวงการคลังพิจารณา หลังจากนั้นจะเสนอต่อซูเปอร์บอร์ดเพื่อเห็นชอบก่อนบรรจุวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะเสนอขายกองทุนดังกล่าวได้ในปีหน้า และหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นก็อาจมีการขายสินทรัพย์โรงไฟฟ้าอื่นของ กฟผ.เข้ากองทุนฯ หรือออกเป็นพันธบัตรต่อไป
นายรัตนชัยกล่าวถึงกรณีที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีเสนอก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงที่ 2 จ.ระยองนั้น ทางบีแอลซีพีเสนอขอให้ กฟผ.เข้าร่วมทุนในลักษณะรัฐเอกชน ซึ่งจะทำให้โครงการนี้อยู่ในส่วนที่ กฟผ.จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4,000 เมกะวัตต์นั้น ขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะร่วมกับบีแอลซีพีหรือไม่ จากปัจจุบันอยู่ระหว่างหาพื้นที่ใหม่เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,200 เมกะวัตต์
“ในขณะนี้แผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในแผนพีดีพีฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร กฟผ.กำลังรอแผนจากกระทรวงพลังงาน โดยตามกรอบคร่าวๆ ต้องการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจาก 70% เหลือ 50% ทำให้สัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะต่ำกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ซึ่งหากมีการเพิ่มความต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทางรัฐก็ให้ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้า”