xs
xsm
sm
md
lg

SPCG เปิดนวัตกรรมประหยัดพลังงาน คาดรายได้ปีหน้าพุ่ง 5 พันล้าน ลุยโซลาร์ฟาร์มต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


SPCG เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ใช้พลังงานแบบชาญฉลาด ต้นแบบประหยัดพลังงานอัตโนมัติในบ้าน ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า 10 เปอร์เซ็นต์ “ผู้บริหาร SPCG” คาดรายได้ปีหน้าแตะ 5 พันล้านบาท ลุยต่อทำโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น พร้อมจับมือเคียวเซร่าตั้งโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในไทย จ่อเซ็นสัญญาลงทุนพม่าอีกแห่ง ก่อนไปลุยเวียดนาม-เนปาล

น.ส.วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท เอ็นเนเกท (ประเทศไทย) จำกัด และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ในการบริหารการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด (Energy Efficiency) ตาม “โครงการต้นแบบประหยัดพลังงานแบบอัตโนมัติภายในบ้านอัจฉริยะ” หรือ “Home Energy Management System” (HEMS) ซึ่งเป็นโครงการที่มอบให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาขยายผลจากเทคโนโลยีของ บริษัทเอ็นเนเกท ญี่ปุ่น พัฒนาอุปกรณ์ควบคุมการบริหารจัดการพลังงานแบบอัจฉริยะให้มีความสามารถในการที่จะช่วยให้เจ้าของอาคารบ้านเรือน หรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถที่จะบริหารจัดการและควบคุมการใช้ไฟฟ้าภายในอาคารบ้านเรือน หรือโรงงานของตนเองอย่างประหยัดพลังงานมากสูงสุดอย่างชาญฉลาด ซึ่งเป็นการบริหารจัดการใช้พลังงานอย่างประหยัดค่าใช้จ่าย หรือค่าใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

ทั้งนี้ SPCG ตั้งเป้ารายได้ปี 2558 ประมาณ 5,000 ล้านบาทจากปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท มาจากการรับรู้รายได้จากจำหน่ายไฟฟ้าครบ 260 เมกะวัตต์เต็มปี คิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจเทรดดิ้งเข้ามากว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ตั้งงบลงทุนปี 2558 ประมาณ 2,000 ล้านบาท ใช้ลงทุนโซลาร์ฟาร์มที่ประเทศญี่ปุ่น 1,000 ล้านบาท และที่เหลือขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศ

นอกจากนี้จะมีการก่อสร้างโรงประกอบแผงโซลาร์ร่วมกับบริษัท เคียวเซร่า พันธมิตรจากญี่ปุ่น ซึ่งโรงงานดังกล่าวอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี คาดมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 10-30% ซึ่งจะใช้เงินลงทุนที่ปัจจุบันมีเงินสดประมาณ 3,000 ล้านบาท

“บริษัทฯ ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งเป็นเจ้าของเองและร่วมลงทุนกับผู้อื่น ประมาณ 500 เมกะวัตต์ ใน 4-5 ปี จากสิ้นปีนี้ที่จะมีกำลังการผลิตระดับ 260 เมกะวัตต์ โดยจะเน้นการขยายในประเทศเป็นหลัก คาดว่าจะมากกว่า 300 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะกระจายไปในกลุ่มประเทศอาเซียนและญี่ปุ่น นอกจากนี้ในช่วงปลายปีจะมีการเซ็นสัญญาร่วมทุนกับพันธมิตรเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์ในประเทศพม่า มูลค่าการลงทุนราว 200 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นสัดส่วน 50%”

บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 1.5 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท โดยน่าจะเห็นความชัดเจนในปีหน้า ขณะที่ในเดือน มี.ค.58 บริษัทฯ จะเข้าประมูลงานรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศเนปาล กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ แต่ยังไม่สามารถระบุรายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่าได้ โดยบริษัทฯ เชื่อมั่นในประสบการณ์และศักยภาพของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ขณะที่ รศ.ดร.วาทิต เบญจพลกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อุปกรณ์นี้จะสามารถบริหารจัดการและควบคุมการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมให้ประหยัดพลังงาน หากประชาชนนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด คาดว่าจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 10 ซึ่งจะสอดคล้องกับระบบสมาร์ทกริด ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่และการนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น