ASTVผู้จัดการรายวัน - 2 ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอีเวนต์ มาร์เกตติ้ง และเอนเตอร์เทนเมนต์ ชี้ชัดไตรมาสสุดท้ายเงินสะพัดเข้าระบบมากขึ้น ส่งผลตลาดเติบโตประมาณ 15% รักษายอด 1.5 หมื่นล้านบาท เผย “รถยนต์-เครื่องดื่ม-สื่อสาร-การเงิน-บันเทิง” โหมใช้งบฯ เดินหน้าทำยอดขาย ส่งผล “Index” เพิ่มพอร์ตงานรับมือทำรายได้โตขึ้น 10-15% ด้าน “CMO” ประกาศตัวเป็น Trendsetter พร้อมสร้างแบรนด์ของตัวเองรุกตลาดคอนเสิร์ตทั้งใน และต่างประเทศ
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจอีเวนต์ มาร์เกตติ้ง ในปี 2557 ว่า หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจจนทำให้มีอัตราการเติบโตลดต่ำลงถึง 20% ในช่วงไตรมาสที่ 1-3 ที่ผ่านมา ขณะนี้มีสัญญาณหลายๆ ด้านบ่งชี้ว่า สถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และเชื่อว่าจะกระตุ้นให้ตลาดกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจมีการเติบโตประมาณ 15% คิดเป็นมูลค่า 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท
สัญญาณดังกล่าวเริ่มส่งผลในทิศทางที่ดีขึ้นมาตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในด้านกำลังซื้อผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นกลับคืนมา ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ เร่งใช้งบประมาณที่คงค้างมาตั้งแต่ช่วงต้นปีเพื่อดำเนินกลยุทธ์การตลาด และเร่งยอดขายให้ฟื้นคืนกลับสภาพ โดยภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มดีอย่างชัดเจนนอกจากกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันคือ กลุ่มเครื่องดื่มที่มีการแข่งขันรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด และกลุ่มรถยนต์ที่เริ่มนำแคมเปญใหม่ๆ ออกมากระตุ้นความสนใจจากผู้บริโภค โดยเฉพาะ “โตโยโต้า” ที่ออกแคมเปญผ่อน 0% นาน 4 ปี ถือเป็นปรากฏการณ์ทางการตลาดที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก
*** ภาคธุรกิจเร่งทำยอดผ่านอีเวนต์ มาร์เกตติ้ง ***
นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นคือ นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2557 แตกต่างจากวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบคือ กลุ่มนักธุรกิจ แต่ครั้งนี้ผู้ได้รับผลกระทบอยู่ในวงกว้าง ตั้งแต่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยขึ้นไปจนถึงผู้มีรายได้ปานกลาง ดังนั้น การกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคให้เริ่มฟื้นกลับคืนมาจึงมีผลสำคัญที่จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยในปี 2558 เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น
“ไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ถือเป็นช่วงจังหวะสำคัญที่ภาคธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องเร่งทำยอดขายเพื่อไม่ให้ผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้ามากนัก แต่การเลือกใช้สื่อเพื่อดำเนินกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจต่างๆ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้สื่อประเภทอื่นๆ มากขึ้น จากเดิมที่เน้นใช้สื่อโทรทัศน์เป็นหลัก เนื่องจากผู้ประกอบการไม่มั่นใจเรื่องระบบทีวีดิจิตอล ธุรกิจอีเวนค์ มาร์เกตติ้งในช่วงนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงเป้าหมาย”
*** Index เดินหน้าตลาดพม่าทำยอดโต 15% ***
ในส่วนของ “อินเด็กซ์” คาดว่าจะยังคงมีผลการดำเนินงานเติบโตประมาณ 10-15% จากรายได้ประมาณ 2 พันล้านบาท ในปี 2556 เนื่องจากมีพอร์ตงานที่หลากหลาย ทั้งยังมีการปรับแผนงานโดยเน้นตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศพม่าซึ่งประชาชนเริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้นและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้มีธุรกิจจากประเทศไทยและแบรนด์ระดับโลกเข้าไปทำกิจกรรมการตลาดมากขึ้น ดังจะสังเกตได้ว่าสินค้าประเภทต่างๆ หลากหลายแบรนด์ เช่น โทรทัศน์จอโค้ง สมาร์ทโฟน รถยนต์ และอื่นๆ เริ่มเข้าไปเปิดตัวสินค้าใหม่เพิ่มขึ้นหลังจากที่เปิดตัวในประเทศไทยได้ไม่นาน
“ทุกวันนี้ตลาดสินค้าหลายๆ ชนิดในพม่าเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์จากเดิมที่เป็นตลาดมือสอง เริ่มพัฒนาเป็นตลาดรถยนต์ใหม่ ขณะเดียวกัน ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างชัดเจนหลังจากที่รัฐบาลเพิ่งให้การอนุมัติก่อสร้างอาคารสูงประมาณ 450แห่ง นอกจากนั้น กลุ่มผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการโทรศัพท์มือถือก็เริ่มมีการใช้งบประมาณทำการตลาดเป็นจำนวนมากเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้งานเป็นจำนวนมาก”
ทั้งนี้ “อินเด็กซ์” เริ่มเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศพม่า ตั้งแต่ ปี 2554 ใน 5 กลุ่มหลักคือ 1.อีเวนต์ มาร์เกตติ้ง 2.เฟสทีฟ อีเวนต์ 3.การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคผ่านงานวิจัย 4.การสร้างช่องทางการสื่อสารแบบผสมผสาน 5.การจัดงานแสดงสินค้า โดยที่ผ่านมา สามารถทำรายได้ประมาณ 4-5% จากรายได้รวม แต่คาดว่าในปี 2558 จะสามารถเพิ่มสัดส่วนเป็น 10% หรือประมาณ 100 ล้านบาท
*** คอนเสิร์ตไทย-เทศคึกคักชดเชยครึ่งปีแรก ***
ทางด้าน นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศไทยมีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีนโยบายต่างๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจนส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าธุรกิจอีเวนต์ มาร์เกตติ้งและเอนเตอร์เทนเมนต์ ในปี 2557 อาจยังคงรักษาระดับการเติบโตประมาณ 12% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท
ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ธุรกิจอีเวนต์ มาร์เกตติ้ง และเอนเตอร์เทนเมนต์ได้รับความกดดันจากภาวะทางการเมืองสูงมาก จนต้องตกอยู่ในภาวะถดถอย และมียอดขายน้อยลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 15-20% ซึ่งถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 เริ่มมีเม็ดเงินเข้าสู่ธุรกิจเป็นจำนวนมากกว่าช่วงเดียวกันกว่า 10% และคาดว่าจะส่งผลดีต่อเนื่องจนถึงปี 2558 โดยกลุ่มสินค้าที่มีการใช้งบประมาณด้านอีเวนต์ มาร์เกตติ้ง และเอนเตอร์เทนเมนต์เป็นจำนวนมาก ได้แก่ รถยนต์ การสื่อสาร การเงิน และบันเทิง
“สำหรับธุรกิจเอนเตอร์เทนด้านการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินต่างๆ ทั้งในประเทศ และจากต่างประเทศต้องถือว่าเริ่มมีบรรยากาศคึกคักมากจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากช่วงที่ผ่านมา ผู้จัดต้องประสบปัญหาเลื่อน และยกเลิกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองมีการผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีอารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายผู้จัดก็พยายามเร่งทำรายได้เพื่อชดเชยส่วนที่หายไปในช่วงครึ่งปีแรก”
*** CMO เจาะตลาดดึงกำลังซื้อคนรุ่นใหม่ ***
นายเสริมคุณ กล่าวอีกว่า จากความต้องการความบันเทิงของผู้บริโภคสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของการจัดคอนเสิร์ตในปี 2558 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีการนำเข้าคอนเสิร์ตจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งคาดว่าน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10 คอนเสิร์ต ขณะที่การจัดคอนเสิร์ตของศิลปินในประเทศจะเริ่มเน้นงานด้านโปรดักชันขนาดใหญ่ และมีศักยภาพเท่าประเทศเกาหลีใต้มากขึ้น โดยบางส่วนยังอาจพัฒนาเป็นธุรกิจที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง และยกระดับสู่สากลมากขึ้น
ในส่วนของ CMO ได้ร่วมมือกับบริษัท แซ๊ป เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด จัดตั้ง “กิจการร่วมค้า ซีเอ็มโอ-แซ๊ป” (CMO-ZAAP Joint Venture) เพื่อให้บริการงานด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ในรูปแบบการจัดกิจกรรมอีเวนต์คอนเสิร์ต และสเปเชียลอีเวนต์ โดยมีการทำงานร่วมกันแล้ว 2 งานใหญ่คือ Single Festival ครั้งที่ 1 และ Full Moon Party Live in Bangkok ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1.2 หมื่นคน โดยขณะนี้กำลังเตรียมจัดงาน Single Festival ครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 พ.ย.57 ณ ไบเทค บางนา โดยใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท
“จากความสำเร็จการจัดงาน 2 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าตลาดการจัดงานคอนเสิร์ตยังมีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตสูง เพราะกลุ่มเป้าหมายคือ วัยรุ่น นักศึกษา และวัยทำงานตอนต้นที่มีอายุ 15-35 ปี ที่ชอบปาร์ตี้ และรักความสนุกสนาน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความรู้ และกำลังซื้อ แต่ยังไม่มีภาระเรื่องครอบครัวจึงทำให้กล้าจับจ่ายใช้สอยเพื่อความบันเทิง”
*** กำหนดบทบาทใหม่ลุยตลาดต่างประเทศ ***
นายเสริมคุณ กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา CMO เป็นผู้ทำงานด้านโปรดักชันเบื้องหลังคอนเสิร์ตใหญ่ๆ รวมถึงรายการโทรทัศน์หลายรายการ แต่จากนี้ไปจะผันตัวมาเป็นผู้จัดเองมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้ CMO-ZAPP เป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ (Trend Setter) ที่มีแบรนด์เป็นของตัวเองในอุตสาหกรรมดนตรี และการจัดคอนเสริ์ตทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดตลาดต่างประเทศแห่งแรกที่ประเทศพม่า ในเร็วๆ นี้
สำหรับผลประกอบการของ CMO ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มกระเตื้องขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 เช่นเดียวภาพรวมของตลาด โดยคาดว่าจะทำรายได้ใกล้เคียงกับปี 2556 คือประมาณ 1.1 พันล้านบาท โดยปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศประมาณ 5% แต่บริษัทฯ มีเป้าหมายว่าจะเพิ่มเป็น 20% พร้อมขึ้นเป็นผู้นำตลาดในประเทศภายใน 3 ปี