xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่น ก.ย.ลดลงครั้งแรกรอบ 5 เดือน เหตุคนกังวลเศรษฐกิจไม่ฟื้น ข้าว ยางตก ส่งออกวูบ ท่องเที่ยวฟุบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือนนับจาก คสช. เข้ามาบริหารประเทศ เหตุคงกังวลเศรษฐกิจไม่ฟื้น สินค้าเกษตรทั้งข้าว ยางพาราตกต่ำ ส่งออกวูบ ท่องเที่ยวฟุบ ค่าครองชีพพุ่ง เผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เดือนสุดท้ายจะช่วยดันจีดีพีไตรมาส 4 โตได้อีก 1% ทำทั้งปีเข้าเป้า 2% ได้แน่

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย .2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,250 คนทั่วประเทศว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ที่ 79.2 ลดจาก 80.1 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันเท่ากับ 61.1 ลดจาก 62 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเท่ากับ 85.8 ลดจาก 86.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 69.2 ลดจาก 70.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำเท่ากับ 72.9 ลดจาก 73.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 95.5 ลดจาก 96.4

ปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดลง เนื่องจากประชาชนกังวลเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราขยายตัวเศรษฐกิจปี 2557 ไว้ที่ 1.5% และลดความการณ์เศรษฐกิจปี 2558 จากเดิม 5.5% เหลือ 4.8% กระทรวงการคลังก็ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจาก 1.5-2.5% เหลือ 1.6-2.0% รวมถึงการไม่ฟื้นตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยว และราคาพืชยังต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ข้าวเปลือก และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปัญหาค่าครองชีพที่ยังทรงตัวในระดับสูง

“เป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและของโลกยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าวและยางพารา การส่งออกก็ติดลบมากสุดในรอบ 32 เดือน การท่องเที่ยวยังซบเซา ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความกังวลกับรายได้ในอนาคต ขณะที่ค่าครองชีพยังทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงเกือบทุกตัวยกเว้นเรื่องดัชนีความคิดเห็นสถานการณ์ทางการเมืองที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 89 เดือน หรือสูงสุดเท่าที่มีการสำรวจ” นายธววรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนของรัฐบาล ถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับรากหญ้าและการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะมาตรการลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาทต่อครัวเรือน วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท เนื่องจากเงินจะส่งสู่ระบบในระดับรากหญ้าได้รวดเร็วหรือประมาณเดือน พ.ย.นี้

“ประเมินว่าเม็ดเงิน 40,000 ล้านบาทในการช่วยเหลือชาวนาจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ขยายตัวเพิ่มอีก 0.3-0.5% จากเดิมที่ประเมินเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวในระดับกว่า 3%”

ทั้งนี้ หากนำมาตรการช่วยเหลือชาวนา 40,000 ล้านบาท มารวมงบประมาณไทยเข้มแข็ง 15,000 ล้านบาท และงบกลางปี 2555-57 จำนวน 7,800 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 23,000 ล้านบาท ไปซ่อมโรงเรียน และบ้านพักข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงบ้านพักข้าราชการกระทรวงกลาโหม และให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม จัดทำรายละเอียดของโครงการเพื่อมาเบิกจ่ายงบกลางปี 2548-56 จำนวน 24,000 ล้านบาท รวมงบทั้งสิ้นเกือบ 90,000 ล้านบาท ก็จะช่วยขับเคลื่อนให้จีดีพีในไตรมาสที่ 4 เพิ่มขึ้นอีก 1% หรือโตเฉลี่ย 4-4.5% ทำให้จีดีพีทั้งปีโตได้ในระดับ 2%
กำลังโหลดความคิดเห็น