xs
xsm
sm
md
lg

ช่อง 3 โบ้ย กสท.ไม่ชัดเจนข้อกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ประวิทย์ มาลีนนท์” กรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (แฟ้มภาพ)
ASTVผู้จัดการรายวัน - “ประวิทย์” ออกโรงแจงปัญหา ช่อง 3 แอนะล็อกจะจอดำบนแพลตฟอร์มดาวเทียม-เคเบิลหรือไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจ กสท. หวังช่วยปลดล็อกกฎหมายมาตรา 9 ย้ำชัดพร้อมแก้แผนธุรกิจออกคู่ขนานหากถูกกฎหมาย ท้ายสุดต้องจอดำจริง ที่พึ่งสุดท้ายหวังศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว

วานนี้ (24 ก.ย.) สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้จัดทำรายการพิเศษขึ้นในช่วงเวลา 17.00-17.45 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลารายการข่าว “เรื่องเด่นเย็นนี้” ในหัวข้อรายการ “ช่อง 3 จะจอดำบนดาวเทียม-เคเบิลหรือไม่?” โดยมีผู้บริหารช่อง 3 มาชี้แจง 2 ราย คือ นายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด และนายฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด โดยมี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ ภายหลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติให้นำช่อง 3 แอนะล็อกออกจากเครือข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวีภายใน 15 วันซึ่งจะครบกำหนดประมาณวันที่ 28-30 ก.ย.ศกนี้ หากเป็นไปตามมติดังกล่าว ช่อง 3 แอนะล็อกบนแพลตฟอร์มเคเบิลและดาวเทียมจะไม่มีสัญญาณ หรือจอดำ คิดเป็นผู้ชมที่รับชมช่อง 3 แอนะล็อกในแพลตฟอร์มดังกล่าวกว่า 15-16 ล้านครัวเรือน หรือกว่า 50 ล้านคน โดยผู้ชมยังสามารถรับชมได้เฉพาะเสาก้างปลาและหนวดกุ้งภาคพื้นดินเท่านั้น

นายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ได้ชี้แจงในรายการว่า ปัญหาช่อง 3 แอนะล็อกจะจอดำบนแพลตฟอร์มดาวเทียมและเคเบิลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับอุปสรรคในเรื่องกฎหมายมาตรา 9 ซึ่งหาก กสท.แก้ไขทัน ช่อง 3 แอนะล็อกก็จะไม่จอดำ แต่ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ก็ต้องยอมรับสภาพจอดำ ซึ่งทางช่อง 3 เองก็ไม่มีแผนรองรับเช่นกัน เพราะไม่มีอำนาจและไม่ได้จับคนดูเป็นตัวประกัน ทั้งนี้หากต้องจอดำจริง สุดท้ายต้องพึ่งศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว

“บริษัทฯ มีข้อเรียกร้องเพียง 2 เรื่องเท่านั้น คือ ปล่อยตัวผมหน่อย อย่าทรมานผมเลย หมายถึงการแก้ไขเรื่องกฎหมาย และการดูแลฐานผู้ชมไม่ให้รับความเดือดร้อน ซึ่งบริษัทฯ ยินดีที่จะปรับแผนธุรกิจตามที่ กสท.ต้องการในการนำช่อง 3 แอนะล็อกไปออกคู่ขนานบนช่อง 3HD หรือช่อง 33 เพียงเคลียร์เรื่องกฎหมายให้ได้ก่อน หากตัดสินใจทำเอง สุดท้ายวิบากกรรมจะตกที่ช่อง 3 กลายเป็นว่าสิ่งที่ทำลงไปผิดกฎหมาย ใครจะรับผิดชอบ ส่วนเรื่องการเยียวยามองเป็นเรื่องรอง ขณะที่ความเสียหายของช่อง 3 ชัดเจนมากหากต้องจอดำ คนดูกว่า 70% จะหายไป ส่วนเรื่องของการเงินจากเดิมที่มีสถานะการเงินดีอยู่แล้วจะเปลี่ยนไปเป็นขาดทุนทันทีและคิดเป็นจำนวนมหาศาล เนื่องจากต้องมีการคืนเงินโฆษณาลูกค้า 70%”

นายประวิทย์กล่าวด้วยว่า ไม่มีเจตนาต้องการให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรายอื่นล้มตายแล้วค่อยลงสนาม แต่มองว่าในเมื่อช่อง 3 มีทั้งหมด 3 ช่องก็ควรจะมีคอนเทนต์ที่แตกต่างกัน ไม่ควรใช้คอนเทนต์ซ้ำกัน ส่วนช่อง 3 แอนะล็อกสุดท้ายพร้อมที่จะออกคู่ขนานหากแก้ข้อกฎหมายมาตรา 9 ได้

“ช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีการเข้าพบ กสท.ถึง 2 ครั้งเพื่อสอบถามและหารือเกี่ยวกับเรื่องการออกคู่ขนานว่าทำได้และถูกกฎหมายหรือไม่ ซึ่งกรรมการบางท่านบอกว่าถูกกฎหมายสามารถทำได้ แต่บางท่านบอกว่าคำกล่าวนั้นเป็นความเห็นส่วนตัว จึงยังไม่มีข้อสรุปออกมาว่าทำได้หรือไม่ แต่ทำได้เฉพาะบางรายการตามระเบียบที่กำหนดไว้ สุดท้ายจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปออกมาว่า สุดท้ายแล้วช่อง 3 จะออกคู่ขนานได้หรือไม่ ปัญหาใหญ่ปัญหาเดียวคือข้อกฎหมาย หากต้องจอดำ ศาลปกครองคือผู้มีอำนาจสูงสุดที่จะเป็นที่พึ่งคุ้มครองชั่วคราว” นายประวิทย์กล่าวสรุป

ด้าน นายฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด กล่าวต่อว่า ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 9 ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาตจะโอนแก่กันมิได้ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จะต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ตามพระราชบัญญัตินี้กำหนด ส่งผลให้ช่อง 3 แอนะล็อกไม่สามารถออกคู่ขนานได้เหมือนกับช่อง 7 เนื่องจากช่อง 3 และช่อง 7 มีสัญญาสัมปทานไม่เหมือนกัน โดย ช่อง 3 มีสัญญาสัมปทานกับ อสมท หากนำช่อง 3 ภายใต้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด เข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลจะเกิดปัญหา จึงตัดสินใจใช้อีกบริษัทร่วมประมูลทีวีดิจิตอล ขณะที่ช่อง 7 ใช้บริษัทเดียวกันเข้าร่วมประมูล จึงทำให้สามารถออกคู่ขนานได้

“จากอุปสรรคที่แง่กฎหมายที่เกิดขึ้นทำให้บีอีซีต้องคิดแผนธุรกิจใหม่ภายใต้ 2 บริษัทที่ดูแลช่องรายการโทรทัศน์รวมเป็น 4 ช่อง และมีแผนธุรกิจของแต่ละบริษัทแยกออกจากกันชัดเจน โดยบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ดูแล 3 ช่องทีวีดิจิตอล และบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ดูแลช่อง 3 แอนะล็อก ช่องเดียว ถึงแม้ทั้ง 4 ช่องจะอยู่ในกลุ่มบริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) เหมือนกัน แต่เป็นคนละบริษัท อาจผิดต่อมาตรา 9 จึงไม่สามารถออกคู่ขนานได้ หากจะให้ทำหนังสือเรียกร้องไปก็ทำไม่ได้ เพราะไม่รู้จะใช้บริษัทไหนทำหนังสือไป”




กำลังโหลดความคิดเห็น