กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งปกป้องภูมิปัญญาไทย เตรียมรับจดทะเบียน “ผลงานศิลป์แผ่นดิน” กว่า 200 ผลงานของสถาบันสิริกิติ์ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นของหลายหน่วยงานให้เป็นฐานข้อมูลเดียว อุดช่องต่างชาติฉกไปใช้ประโยชน์
นางกุลณี อิศดิศัย รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เร่งสานต่อนโยบายของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการตรวจสอบและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านต่างๆ ของไทยให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยเบื้องต้น กรมฯ ได้ดำเนินการปกป้องคุ้มครอง “ผลงานศิลป์แผ่นดิน” ที่จัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งสถาบันสิริกิติ์ได้สร้างสรรค์ขึ้น เป็นผลงานทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม และบันทึกเป็นฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ เพราะเห็นว่าผลงานศิลป์แผ่นดินเป็น The Best of ASEAN ในด้านของความประณีต วิจิตรบรรจง ที่ควรค่าแก่การปกป้องคุ้มครองให้เป็นสมบัติของชาติต่อไป
โดยผลงานหัตถศิลป์กว่า 200 ผลงาน เช่น ฉากไม้แกะสลัก เรื่อง สังข์ทองและป่าหิมพานต์, ฉากผ้าปักไหมน้อย เรื่องอิเหนา, ฉากถมทอง เรื่องรามเกียรติ์ รวมถึงงานถมเงินถมทอง, เครื่องเงินเครื่องทอง, คร่ำ, ลงยาสี, ปักผ้า, แกะสลักไม้ หรือเขียนลาย จะนำมาจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งสิทธิบัตร และรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ เพื่อปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ และบันทึกเป็นฐานข้อมูลมรดกภูมิปัญญาของไทย
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้เร่งดำเนินการปกป้องคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยในด้านต่างๆ ตามนโยบายของ คสช. โดยได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทุกหน่วยงานเห็นตรงกันว่า ระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ยังไม่รองรับการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรพันธุกรรม และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายหรือพันธกรณีระหว่างประเทศที่ให้การคุ้มครอง จึงต้องบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องมีหน่วยงานหลัก อาจจะเป็นในรูปของคณะกรรมการ เพื่อบริหารคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งอาจแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเดิมที่มีอยู่ หรือร่างกฎหมายใหม่เพื่อให้การปกป้องคุ้มคอรงครอบคลุม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นางกุลณีกล่าวว่า ปัจจุบันไทยยังไม่มีระบบการปกป้องคุ้มครองภูมิปัญญาไทย มีเพียงแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละด้านว่ามีอะไรบ้าง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีฐานข้อมูลพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์, กระทรวงวัฒนธรรม ด้านโบราณสถาน โบราณวัตถุ และมรดกที่จับต้องไม่ได้ อย่างวิธีการนวดแผนไทย มวยไทย การแสดงออกทางวัฒนธรรม อย่างการรำ โขน รวมประมาณ 286 รายการ, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลทรัพยากรพันธุกรรม และกรมทรัพย์สินทางปัญญา รับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ราว 4,800 รายการ
“ระยะสั้นต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละหน่วยงานให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพราะถ้าต่างชาติเอาไปใช้ประโยชน์เราจะได้รู้และปกป้องคุ้มครองได้ หรืออาจจะเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ได้ จากนั้นต้องทำให้คนไทยรู้จักและปกป้องภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่วนในระยะยาว อาจตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูเป็นการเฉพาะ เพื่อให้การปกป้องคุ้มครองเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ และอาจต้องออกกฎหมายใหม่เพื่อให้การคุ้มครองดูแลครอบคลุมภูมิปัญญาทุกประเภท” นางกุลณีกล่าว