กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศผนึกหน่วยงานพันธมิตร ประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยเมื่อเทียบกับสมาชิกอาเซียนอื่น พบมีหลายอุตสาหกรรมที่ไทยแข่งขันได้ดีในด้านการส่งออก และมีขีดความสามารถเหนืออาเซียนอื่น แนะต้องปรับตัวให้ทันแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโลกเพื่อให้ไทยยังคงแข่งขันได้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้ (24 ก.ย.) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์กรมหาชน) สถาบันนานาชาติเพื่อเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดการสัมมนา เรื่อง “ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน” ณ โรงแรมเซ็นทารา เซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาการประเมินความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมหลักของไทยภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญจำนวน 9 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป 2) อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 3) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 4) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 5) อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 6) อุตสาหกรรมเคมีภัณท์และพลาสติก 7) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า 8) อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และ 9) อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณท์ยาง
โดยผลการศึกษาในด้านการส่งออกของไทยเมื่อเทียบกับสมาชิกอาเซียนอื่น พบว่า ไทยจะอยู่อันดับแรก 5 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนอันดับสอง คือ อุตสาหกรรมเคมีและพลาสติก อันดับสาม คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และอันดับสี่ คือ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์
เมื่อเทียบในตลาดอาเซียน ไทยจะครองอันดับแรก 5 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง อันดับสอง คือ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อันดับสาม คือ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมเคมีและพลาสติก อันดับสี่ คือ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม หากคำนวณขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยเทียบกับอาเซียน เมื่อประเมินจากปัจจัยต่างๆ เช่น ภาพรวมอุตสาหกรรม ความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถผู้ประกอบการ ปัจจัยการผลิต อุตสาหกรรมสนับสนุน อุปสงค์ภายในประเทศ และการส่งเสริมจากภาครัฐ พบว่า อันดับ 1 มี 2 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง อันดับ 2 มีอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และพลาสติก อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อันดับ 3 มีอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
นางอภิรดีกล่าวว่า การปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจะต้องตามการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มอุตสาหกรรมโลกให้ทัน โดยผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ จำเป็นต้องทำความเข้าใจ และวางแนวทางในการปรับตัวต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมโลกที่เกิดขึ้น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการสร้างอุตสาหกรรมสีเขียว การขยายตัวของประชากรและการเข้าสู่สังคมเมือง ความเชื่อมโยงในห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่มูลค่าโลกและภายในภูมิภาค การพัฒนาของเทคโนโลยี IT และการพัฒนาระบบโทรคมนาคม และการพึ่งพาเครื่องจักรแทนแรงงานมนุษย์ รวมไปถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมจำเพาะที่เกิดขึ้นในแต่ละอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ จะต้องยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมหลักของไทย ได้แก่ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวแก่ผู้ประกอบการต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมโลก การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบ และวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และการผลักดันการใช้ประโยชน์และความร่วมมือจากการรวมเป็นหนึ่งใน AEC และเป็นห่วงโซ่อุปทานร่วมในภูมิภาค ถือเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องตระหนักถึงไม่มากก็น้อย