xs
xsm
sm
md
lg

“ปตท.” ประเมินขึ้น LPG-NGV ดีเซลกระทบไม่มากเหตุรัฐมีมาตรการดูแล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.ประเมินปรับโครงสร้างราคาพลังงานรอบใหม่ทั้งดีเซล แอลพีจีขนส่ง ไม่กระทบต่าครองชีพมากนัก เหตุรัฐจะมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ระบุจากราคาแอลพีจีต่ำ ปตท.นอกจากรับภาระต้นทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท/ปี และต้องลงทุนเพิ่มขึ้นต่ำ1 หมื่นล้านขยายคลังนำเข้า

นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. เปิดเผยว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีภาคขนส่ง และเอ็นจีวีช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ ตามแผนปฏิรูปพลังงานของรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนเพียงเล็กน้อย เพราะภาครัฐมีนโยบายดูแลผู้มีรายได้น้อยโดยการปรับขึ้นราคาครั้งนี้เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หลังราคาแอลพีจีภาคขนส่งถูกกว่าภาคครัวเรือนตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณการใช้ภาคขนส่งสูงขึ้นกว่า 10% ขณะที่ภาคครัวเรือนยังเติบโตในอัตราต่ำ

นอกจากนี้ หากรัฐบาลจะปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลให้มากกว่า 30 บาทต่อลิตร ในช่วงนี้ก็นับเป็นช่วงที่เหมาะสม เนื่องจากราคาตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อีกทั้งในอดีตราคาน้ำมันดีเซลก็เคยปรับขึ้นในช่วง 30-33 บาทต่อลิตร ซึ่งไม่กระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก

ปัจจุบันราคาก๊าซแอลพีจีภาคขนส่งอยู่ที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งนโยบายปรับโครงสร้างที่กระทรวงพลังงานเสนอ คือ การปรับราคาให้เท่ากับภาคครัวเรือนที่ขณะนี้อยู่ที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนก๊าซเอ็นจีวี ที่ขณะนี้ถูกตรึงราคาไว้ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ต้นทุนจริงอยู่ที 15 บาทต่อกิโลกรัม

นายสรัญ ยังกล่าวว่า จากการที่ราคาก๊าซแอลพีจีของไทยต่ำกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ทำให้มีความนิยมใช้ในภาคขนส่งในอัตราสูง จนไทยเปลี่ยนจากประเทศผู้ส่งออกเป็นการนำเข้าแอลพีจีตั้งแต่กลางปี 2551 และคลังรับแอลพีจี อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ไม่เพียงพอในขณะนี้ ปตท. อยู่ระหว่างการก่อสร้างขยายการนำเข้ารองรับเพิ่มขึ้นจาก 1.3 แสนตันต่อเดือน เป็น 2.5 แสนตันต่อเดือน วงเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ตามเป้าหมายจะก่อสร้างเสร็จปลายปี 2558 จากนั้นยังเตรียมแผนศึกษาจะก่อสร้างเพิ่มเติมลงทุนอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายการนำเข้าเพิ่มเป็น 5 แสนตันต่อเดือน อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดเรื่องการขนส่งออกจากคลังกระจายไปสู่พื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งทางรถไฟ และทางรถยนต์ และอื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานต่างๆ ว่าจะวางแผนร่วมกันอย่างไรเพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น