ส่งออกทุเรียนเฮ! อินโดนีเซียเปิดโควตาให้เป็นพิเศษ 5 พันตันให้ส่งออกได้ช่วง ก.ย.-ต.ค.นี้ คาดช่วยระบายผลผลิตและเป็นผลดีต่อเกษตรกรของไทย พร้อมเร่งอินโดนีเซียจัดทำระบบควบคุมความปลอดภัยสินค้าเกษตร เพื่อให้พืชสวนของไทยส่งออกได้ง่ายขึ้น
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อินโดนีเซียรับที่จะเปิดโควตานำเข้าทุเรียนให้แก่ไทยเป็นพิเศษ จำนวน 5,000 ตัน ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 2557 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ไทยได้เจรจาให้อินโดนีเซียเปิดตลาดให้ไทย หลังจากที่ปีนี้อินโดนีเซียได้มีมาตรการห้ามนำเข้าทุเรียนในช่วงครึ่งปีหลัง 2557 จากที่ก่อนหน้านี้เปิดให้นำเข้าได้ปกติ แต่จะเป็นการกำหนดโควตาการนำเข้า ทำให้เกิดผลดีต่อเกษตรกรของไทยที่จะมีช่องทางในการจำหน่ายทุเรียนได้เพิ่มขึ้น
“ผู้ส่งออกที่ส่งออกทุเรียนไปยังอินโดนีเซียได้มาบอกว่าอินโดนีเซียห้ามนำเข้าทุเรียนในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าก็ให้นำเข้าได้ ไทยจึงได้หารือกับอินโดนีเซียเพื่อขอให้เปิดตลาดให้ไทยเป็นพิเศษ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือ”
ทั้งนี้ ไทยยังได้ขอให้อินโดนีเซียช่วยเร่งรัดให้กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียเร่งจัดทำระบบการควบคุมความปลอดภัยของสินค้าเกษตร (MRA) กับสินค้าพืชสวนของไทย โดยเฉพาะหอมแดงและผลไม้ ซึ่งอินโดนีเซียได้รับปากที่จะไปเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลทำให้การส่งออกทำได้ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น
นายสมเกียรติกล่าวว่า ไทยยังมีโอกาสในการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังรัสเซียได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผักสด ผักแปรรูปและบรรจุกระป๋อง เนื้อไก่ ถั่ว เนื้อสัตว์ เป็นต้น หลังจากที่รัสเซียได้หาตลาดนำเข้าเพิ่มเติม จากการที่ออกคำสั่งห้ามการนำเข้าสินค้าอาหารจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เพื่อตอบโต้ประเทศเหล่านี้กรณีแซงก์ชันรัสเซีย จึงถือเป็นโอกาสดีของไทยในการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ไทยจะเข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 2 ในช่วงเดือน พ.ย. 2557 ที่กรุงมอสโก ซึ่งจะมีการหารือในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยสาขาที่คาดว่าจะร่วมมือกันได้ เช่น พลังงาน การท่องเที่ยว และการเกษตร เป็นต้น
นายสมเกียรติกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการเจรจาเปิดเสรีการค้าเพื่อขยายตลาดส่งออกให้ไทย ในเดือน ก.ย.นี้ไทยจะร่วมกับอาเซียนเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และการอำนวยความสะดวกทางการค้า ในกรอบอาเซียน-จีนเพิ่มเติมให้มากขึ้นจากเดิม
นอกจากนี้ จะมีการเร่งรัดเจรจาตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยจะมีการยื่นข้อเสนอการลดภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มแรกว่าจะลดภาษีอย่างไร สัดส่วนเท่าไร รวมถึงการหารือในการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปภายในเดือน ธ.ค.นี้ รวมทั้งการหารือถึงการร่วมมือในด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนา SMEs และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
ส่วนการเปิดเสรีในกรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น จะมีการหารือเพื่อจัดทำข้อสรุปการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการค้าบริการและความตกลงว่าด้วยการลงทุนก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ญี่ปุ่น ภายในปี 2557 และลงนามภายในต้นปี 2558 เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของอาเซียนและญี่ปุ่น รวมทั้งจะมีการทำแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-แคนาดา หลังปี 2558 โดยสาขาที่สนใจร่วมกัน ได้แก่ สาขาการศึกษาและการอำนวยความสะดวกทางการค้า