กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานนำโดย “รสนา” ออกแถลงจี้รัฐบาลใหม่ปฏิรูปพลังงานต้องดูทั้งระบบ ย้ำด่านแรกแก้ผลประโยชน์ทับซ้อนคนพลังงานกับ ปตท.ออกจากกัน รุมจวกปรับโครงสร้างราคาน้ำมันล่าสุดเหมือนเล่นผีถ้วยแก้ว ลดเบนซิน แต่ดันไปขึ้นดีเซลบิดเบือน ไม่ยอมแตะแอลพีจีภาคปิโตรเคมีเอื้อ ปตท.แต่โยนภาระให้ประชาชนรับแทนจี้เก็บเงินแอลพีจีปิโตรเคมีเข้ากองทุนน้ำมันฯ 3 บาทต่อ กก.ล้างหนี้กองทุนฯ ได้ใน 1 ปี แล้วยุบกองทุนน้ำมันได้ทันที
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ตัวแทนกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย เปิดเผยในการแถลงข่าววานนี้ (11 ก.ย.) ว่า ต้องการฝากรัฐบาลใหม่ว่า การปฏิรูปพลังงานจะต้องดูทั้งระบบเพราะหากออกแบบดีเพียงใดแต่คนกำกับดูแลยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เนื่องจากปัจจุบันข้าราชการกระทรวงพลังงานในฐานะกำกับดูแลพลังงาน ตั้งแต่ระดับปลัด ไปจนถึงราชการประจำอื่นๆ ต่างก็ไปนั่งอยู่ในบอร์ด บมจ.ปตท. และบริษัทในเครือ ทำให้กระบวนการกำกับดูแลที่จะให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนจึงเกิดขึ้นได้ยาก
“เราต้องเริ่มตั้งแต่คิดว่าพลังงานนั้นจะปฏิรูปเพื่ออะไร ถ้าเพื่อประชาชนพลังงานก็ควรเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือจะให้เป็นสินค้าที่ต้องการสร้างกำไร แต่หากโครงการการดูแลผลประโยชน์มีผลประโยชน์ทับซ้อน การรักษาประโยชน์ประชาชน หรือภาษีของรัฐบาลก็จะกลายเป็นการรักษาผลกำไรให้เอกชนแทน ซึ่งประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้เสนอมาทุกรัฐบาลทุกสมัย เป็น 10 ปี แต่ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” น.ส.รสนา กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีล่าสุดมติคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงาน และทำให้ราคากลุ่มเบนซินลดลงมานั้นเห็นว่าไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา เคยเสนอ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าเศรษฐกิจของ คสช.ตั้งแต่ มิ.ย.ว่าควรปรับปรุงด้วยการปรับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าการตลาด และเนื้อน้ำมันแต่กลับกลายเป็นมติล่าสุดไปลดภาษีสรรพสามิต และเทศบาลลงด้วย
นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ และกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย กล่าวว่า มติ กบง.ล่าสุดนั้นที่จริงรัฐไม่ควรจะเพิ่มเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของดีเซล 0.14 บาทต่อลิตร เนื่องจากยิ่งทำให้การบิดเบือนราคายังดำรงอยู่ต่อไปเพื่อให้มีเงินเข้าสู่กองทุนฯ มากขึ้นกลายเป็นภาระที่ต้องไปอุ้มส่วนของก๊าซหุงต้ม ขณะเดียวกัน รัฐควรกำกับดูแลค่าการตลาดน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจาก 1.45 บาทต่อลิตร ในวันที่ 29ส.ค.ที่ผ่านมา แต่วันนี้ค่าการตลาดดีเซลสูงไปแตะ 2 บาทต่อลิตร ซึ่งจะเห็นว่าหากไม่เพิ่มการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ก็ยังได้และแถมยังลดราคาลงมาได้อีกด้วย ดังนั้น ควรจะกำหนดเรื่องค่าการตลาดน้ำมันของผู้ค้า และปั๊มน้ำมันที่ได้รับให้ชัดเจน
นอกจากนี้ รัฐควรเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากกลุ่มปิโตรเคมี 3 บาทต่อกิโลกรัมเพื่อให้เท่ากับราคาแอลพีภาคครัวเรือนก็จะได้เงิน 7,800 ล้านบาท ซึ่งก็จะทำให้ภาระหนี้ของกองทุนน้ำมันหมดภายในเวลาน้อยกว่า 1 ปี และที่สำคัญต้องฝากให้รัฐบาลกำกับดูแลราคาก๊าซหุงต้มหน้าโรงแยกก๊าซ โรงกลั่น และนำเข้าด้วย ซึ่งจะเห็นว่าราคาแอลพีจีภาคปิโตรเคมีไม่มีการเปิดเผยในเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงาน เป็นรายวันเหมือนกับราคาแอลพีจีภาคอื่นๆ
นางบุญยืน ศิริธรรม กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังานไทย กล่าวว่า รัฐปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่ผ่านมาเหมือนเล่นผีถ้วยแก้ว ปรับลดน้ำมันเบนซิน แต่ไปขึ้นดีเซล หลอกล่อเสมือนว่าลดราคาให้ประชาชนแต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยพูดถึงคือ การปรับราคาแอลพีจีภาคปิโตรเคมี และไม่เคยชี้แจงต้นทุนที่แท้จริงได้ ซึ่งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีขอให้เชื่อมั่นแต่การทำโครงสร้างราคาน้ำมันหากเริ่มแรกยังไม่โปร่งใสแล้วเราจะเชื่อมั่นอะไรได้อีก
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์ สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย กล่าวว่า ราคาแอลพีจีภาคปิโตรเคมีไม่มีการเปิดเผยเป็นรายวันเหมือนกับภาคอื่นๆ สิ่งนี้ต้องฝากไปยังกระทรวงพลังงาน การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของแอลพีจีปิโตรเคมีก็มีเพียง 1 บาทต่อลิตร ต่ำกว่าภาคอื่นๆ อย่างมาก และเวทีถามตอบพลังงานล่าสุดก็ย้ำให้เห็นว่าเครือ ปตท.ซื้อแอลพีจีในราคาเพียง 19 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถูกกว่าภาคประชาชน