xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเกม “อิชิตัน” รุกอินโดฯ 5 ปี ชี้ชะตาก่อนรุกตลาดอื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) “โจโกะ ซูซานโต้” President Director จาก PT Sigmantara Alfindo ประเทศอินโดนีเซีย “ตัน ภาสกรนที” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตันกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) “ทาเคฮิโกะ คาคิยูชิ” Executive Vice President, Group CEO, Living Essentials Group, Mitsubishi Corporation (Tokyo) ประเทศญี่ปุ่น
เปิดกลยุทธ์ “อิชิตัน” ผุดบริษัทร่วมทุนลุยอินโดนีเซีย ชูเป็นหัวหอกโมเดลหลัก เผยเหตุเลือกอินโดฯ ก่อนเพราะได้พันธมิตรแข็งแกร่งทั้งช่องทางจำหน่าย และเทรดดิ้ง โนว์ฮาว วาดเป้า 5 ปีแรก 10,000 ล้านบาทในอินโดนีเซีย

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตันกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ บุกตลาดต่างประเทศด้วยการเจาะตลาดอินโดนีเซียก่อน ด้วยการตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท อิชิตัน อินโดนีเซีย จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท โดยอิชิตันถือหุ้น 50% ส่วนอีก 50% ถือหุ้นโดยบริษัท พีที อาทรี่ แปซิฟิค จำกัด หรือ เอพี ประเทศอินโดนีเซีย (เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง พีที ซิกมันทรา อัลฟินโด้ อินโดนีเซีย และมิตซูบิชิ คอร์เปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น )

ส่วนตลาดต่อไปจะต้องรอดูผลการดำเนินงานที่อินโดนีเซียก่อนว่าเป็นอย่างไร ตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 10,000 ล้านบาทภายใน 5 ปีจากนี้ ส่วนรูปแบบที่จะไปคงเป็นลักษณะเดียวกับที่อินโดนีเซียโดยลงทุนร่วมกับคนท้องถิ่น เริ่มจากชาเขียวก่อนแล้วตามด้วยเครื่องดื่มอื่น รวมทั้งไบเล่ด้วย ยกเว้นนมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเริ่มขาย 2 รสชาติก่อนคือ ชามะนาวกับชาดำ ราคาเฉลี่ย 13-15 บาท

สาเหตุที่เข้าตลาดอินโดนีเซียก่อนเพราะว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มีประชากรมากกว่า 250 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของเออีซี อีกทั้งประชากรมีกำลังซื้อสูง และพฤติกรรมการบริโภคชาเหมือนคนไทย ประเทศตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตรอากาศร้อนตลอดทั้งปี โดยเฉพาะตลาดชาพร้อมดื่มมีมูลค่ามากกว่า 73,000 ล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่าตลาดน้ำอัดลมถึง 2 เท่า เติบโต 15% ขณะที่ตลาดชาเขียวเติบโต 20% โดยชาเขียวมีสัดส่วน 13% ส่วนชาดำสัดส่วน 87% จากตลาดรวม

“ในอินโดนีเซียยังไม่มีรายใด หรือแบรนด์ใดที่เป็นเจ้าตลาดชัดเจน แม้ว่าการแข่งขันจะรุนแรงเหมือนไทยมีมากกว่า 10 แบรนด์ก็ตาม ขณะที่แนวโน้มขวดเพ็ทเริ่มมาแรงและที่อินโดนีเซียก็อยู่ระหว่างการเปลี่ยนถ่ายเป็นขวดเพ็ทจากเดิมขวดแก้วกว่า 75% ของตลาด”

ในแง่ของกลยุทธ์การตลาดจะอาศัยความแข็งแกร่งของพันธมิตรทั้งสองราย โดย “พีที อาทรี่” ทำธุรกิจด้านการจัดจำหน่ายรายใหญ่ สามารถนำ “อิชิตัน” เข้าสู่ช่องทางตลาดได้มาก ทั้งโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ร้านย่อยทั่วไป โดย “พีที” มีธุรกิจค้าปลีกของตัวเองเป็นร้านคอนวีเนียนสโตร์มากกว่า 10,000 สาขาแล้ว และอีก 6 ปีจะเพิ่มเป็น 20,000 แห่ง ส่วน “มิตซูบิชิ” มีความแข็งแกร่งทางด้านการลงทุนและเป็นเจ้าของร้าน “ลอว์สัน” ด้วย ซึ่งเริ่มขยายในอินโดนีเซียแล้วจึงเป็นอีกช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

ปีแรกตั้งเป้ายอดขายในอินโดนีเซีย 1,000 ล้านบาท และปีที่สองประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยใช้งบตลาดปีแรก 100 ล้านบาท ซึ่งการทำตลาดที่นั่นไม่มีข้อห้าม หรือกฎหมายบังคับมากเหมือนไทย จึงทำให้ทำตลาดได้เต็มที่ และเตรียมตั้งโรงงานผลิตด้วยเมื่อยอดขายตามเป้าหมาย 10,000 ล้านบาทใน 5 ปี คาดว่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ว่าจ้างให้โรงงานของไต้หวันที่อินโดนีเซียผลิตให้และส่งออกจากไทยส่วนหนึ่ง

สำหรับเป้าหมายรายได้ในไทยปีนี้ตั้งไว้ 7,000 ล้านบาท เติบโต 10-20% ปีที่แล้ว 6,400 ล้านบาท สัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 1% คาดว่าปีหน้าเป็น 5% และเป้าหมายในไทยอีก 5 ปีเป็น 15,000 ล้านบาท เมื่อรวมต่างประเทศด้วยรวมเป็น 25,000 ล้านบาท ส่วนแชร์ตลาดขณะนี้รอบ 7 เดือนแรกปีนี้อิชิตัน 45% โออิชิ 37% เพียวริคุ 8% ลิปตัน 4%


กำลังโหลดความคิดเห็น