xs
xsm
sm
md
lg

กรมทรัพย์สินฯ ช่วยผู้ประกอบการอาหารพัฒนาสินค้า โดยใช้เทคโนโลยีจากสิทธิบัตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร เพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการอาหารเพิ่มมูลค่าการผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีจากสิทธิบัตร เผยสามารถค้นคว้าองค์ความรู้ในสิทธิบัตรแล้วมาพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดโลก คาดทำให้ไทยแข่งขันได้ดีขึ้น

นางกุลณี อิศดิศัย รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยในการเปิดโครงการ “การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเอกสารสิทธิบัตร สู่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าเข้าสู่ตลาด” ว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการสินค้าอาหารของไทย โดยใช้เทคโนโลยีจากเอกสารสิทธิบัตรมาใช้พัฒนาธุรกิจ ซึ่งจะทำให้สินค้าอาหารไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น และเป็นครัวของโลกได้อย่างแท้จริง

“กรมฯ ในฐานะที่ดูแลสิทธิบัตรเกี่ยวกับอาหารเป็นจำนวนมาก เห็นว่าผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ในสิทธิบัตรมาพัฒนาต่อยอด เพื่อทำเป็นสินค้าอาหารใหม่ๆ ออกสู่ตลาด โดยต้องเปลี่ยนตัวเองจากผู้ผลิตวัตถุดิบเป็นผู้ผลิตอาหารที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยการสร้างและใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกลยุทธ์ทางการค้า ซึ่งจะทำให้แข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นส่วนช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอาหารให้กับไทยด้วย” นางกุลณีกล่าว

นางพัชรี ตั้งตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการนี้สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมก่อนมาขอรับบริการวิชาการจากสถาบันฯ ซึ่งจะทำให้ย่นระยะเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเพิ่มความเป็นไปได้ทางธุรกิจของผลิตภัณฑ์ใหม่

นายชุมพล ศิริวรรณบุศย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทรัพย์สินอุตสาหกรรม กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ผู้ประกอบการสามารถสืบค้นเอกสารสิทธิบัตรได้ด้วยตนเอง เพื่อเรียนรู้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และยังสามารถอ่านจับประเด็นทางเทคนิค เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการจดสิทธิบัตรของตนเอง หรือการนำเทคโนโลยีจากสิทธิบัตรมาต่อยอดโดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของโลกและของตนเองอย่างคุ้มค่า และเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง

นายปราโมทย์ ธรรมรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิบัตร กล่าวว่า เอกสารสิทธิบัตรจะช่วยให้เราคิดเป็น มีตั้งแต่เรื่องที่ง่ายจนถึงเรื่องที่ยากมากๆ เหมาะกับคนทุกระดับ เป็นแหล่งรวมความคิดของคนทั่วโลก กว่า 200 ปี กว่าร้อยละ 80 ของเทคโนโลยีจากเอกสารสิทธิบัตร ไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในเอกสารอื่นๆ ปัจจุบันมีเอกสารสิทธิบัตรกว่า 50 ล้านเรื่อง จาก 71 ประเทศทั่วโลก สืบค้นได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และกว่าร้อยละ 99 สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้


กำลังโหลดความคิดเห็น