บอร์ดบีโอไอเห็นชอบหลักการ “ร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี” (2558-2564) เน้นส่งเสริมการลงทุนแก่อุตสาหกรรมที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเลิกเขต 1-3 พร้อมเคาะอนุมัติโครงการ 15 กิจการมู ลค่า 4.05 หมื่นล้านบาท
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของ “ร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี” (พ.ศ. 2558-2564) ตามที่บีโอไอนำเสนอ โดยหลักการจะเน้นส่งเสริมกิจการที่มีเป้าหมายชัดเจน และมีการจัดลำดับความสำคัญมากขึ้น (Focus & Prioritized) เลิกให้การส่งเสริมแบบเขต 1-3 เดิมเป็นการให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ในภูมิภาค (New Regional Clusters)
“การส่งเสริมเน้นอุตสาหกรรมที่จะช่วยนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สามารถก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยยังคงกลุ่มอุตสาหกรรมที่ 7 กลุ่มเช่นเดิม แต่จะเน้นประเภทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีมูลค่าเพิ่มสูง มีการวิจัยและพัฒนาหรือการออกแบบ รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 2) อุตสาหกรรมแร่ เซรามิก และโลหะขั้นมูลฐาน 3) อุตสาหกรรมเบา 4) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง 5) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 6) อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ และ 7) อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค” นายอุดมกล่าว
สำหรับรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมจะมี 2 ประเภท คือ สิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ (Activity-based Incentives) คือ การให้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันตามประเภทของกิจการ และสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) ที่จะให้เพิ่มเติมสำหรับโครงการที่มีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมมากขึ้น ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาทักษะขั้นสูง การพัฒนาผู้รับช่วงการผลิต และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และเพิ่มภารกิจให้บีโอไอส่งเสริมการลงทุนไทยไปต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ดซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ภายหลัง คสช.ได้ตั้งบอร์ดบีโอไอ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 15 โครงการ เงินลงทุนรวม 40,538 ล้านบาท รวมเป็นการอนุมัติ 3 ครั้ง 121 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 318,839.5 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังอนุมัติที่มาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา