กองทุน FTA ช่วยน้ำผึ้งไทยสู้เปิดเสรีการค้า หลังภาษีนำเข้าลดเหลือ 0% ทำน้ำผึ้งนอกทะลัก แถมเจอปัญหานำมาปลอมปนกับน้ำผึ้งไทยจนเสียชื่อเสียง ดันทำระบบควบคุมคุณภาพและตรวจสอบย้อนกลับ พร้อมต่อยอดใช้น้ำผึ้งพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ๆ สร้างมูลค่าเพิ่ม และผลักดันเครื่องหมายรับรองน้ำผึ้งแท้ 100% การันตีอีกทาง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า โครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA) ได้อนุมัติความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในพื้นที่ภาคเหนือในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน พะเยา อุตรดิตถ์ สุโขทัย และพิษณุโลก เพื่อให้สามารถปรับตัวสู้กับการเปิดเสรีทางการค้าในกรอบต่างๆ เช่น จีน อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่บางประเทศได้มีการปรับลดภาษีนำเข้าลงมาเหลือ 0% แล้ว และบางประเทศจะลดเหลือ 0% ในปี 2558
ทั้งนี้ การเปิดเสรีทำให้มีน้ำผึ้งจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น และน้ำผึ้งที่นำเข้าบางประเทศเป็นน้ำผึ้งคุณภาพต่ำ โดยมีผู้นำเข้าบางรายนำมาปลอมปนกับน้ำผึ้งไทย ซึ่งเป็นน้ำผึ้งบริสุทธิ์ 100% แล้วส่งไปขายต่อยังต่างประเทศในยุโรป และอเมริกา ทำให้ภาพลักษณ์ของน้ำผึ้งไทยเสียหาย และถูกมองว่าเป็นประเทศผู้ฟอกน้ำผึ้ง (Honey Laundry) ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ไข
ผ.ศ.พิชัย คงพิทักษ์ อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า กองทุน FTA ได้เข้ามาช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งของไทย โดยได้เข้าไปช่วยพัฒนากระบวนการเลี้ยงผึ้งแบบคอนโดฯ โดยไม่ใช้สารเคมี เป็นการแยกการวางไข่ของผึ้งนางพญากับตัวอ่อน ทำให้น้ำผึ้งที่ออกมาเป็นน้ำผึ้งล้วนๆ ไม่มีดักแด้ปนลงมาด้วย รวมทั้งให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับว่าน้ำผึ้งมาจากฟาร์มไหน เพื่อควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน
“เมื่อพัฒนาผลผลิตน้ำผึ้งให้ได้มาตรฐานแล้ว ก็ได้ศึกษาค้นคว้าในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำผึ้งไทย โดยค้นคว้าสกัดเป็นน้ำผึ้งผงเพื่อนำไปใช้ในวงการอาหารและเครื่องสำอาง และพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น รังนกผสมน้ำผึ้ง อาหารเสริม โลชั่น ครีมอาบน้ำผสมน้ำผึ้ง ซึ่งผลการนำสินค้าที่ได้รับการพัฒนาไปแสดงในงานสินค้าในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม และจีน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี” ผศ.พิชัยกล่าว
นอกจากนี้ ยังได้มีการยกระดับมาตรฐานน้ำผึ้งไทย โดยเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งกับผู้รับซื้อน้ำผึ้งได้ร่วมกันเพื่อกำหนดเครื่องหมายรับรอง “น้ำผึ้งแท้ 100% ของไทย” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพราะเครื่องหมายนี้จะช่วยยกระดับน้ำผึ้งไทยให้เกิดการยอมรับว่าเป็นน้ำผึ้งแท้ 100% ซึ่งจะทำให้มีความต้องการน้ำผึ้งไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะออสเตรเลีย สเปน เยอรมนี เป็นต้น ที่มีการนำเข้าน้ำผึ้งไทยอยู่แล้ว
ผ.ศ.พิชัยกล่าวว่า การส่งออกน้ำผึ้ง จีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำผึ้งรายใหญ่ที่สุดของโลก รองลงมา ได้แก่ อาร์เจนตินา และเม็กซิโก ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกรวมกันประมาณ 60% ของตลาดน้ำผึ้งส่งออกของโลก โดยผู้นำเข้ารายสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่น ส่วนไทยแม้จะเป็นผู้ผลิตรายเล็ก แต่น้ำผึ้งไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เนื่องจากมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง คือ น้ำผึ้งไทยมีเอกลักษณ์พิเศษที่ประเทศอื่นไม่มี เพราะผลิตจากเกสรดอกลำไย ดอกลิ้นจี่ ดอกส้ม และดอกสาบเสือ
ปัจจุบันไทยมีฟาร์มผึ้งที่ขึ้นทะเบียน 1,588 ฟาร์ม 206,412 รัง โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มีกำลังการผลิตมากกว่า 10,000 ตันต่อปี นมผึ้งมากกว่า 200 ตันต่อปี และเกสรผึ้งมากกว่า 100 ตันต่อปี มีตลาดส่งออกหลัก คือ เยอรมนี สหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย จีน อังกฤษ เบลเยียม ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย มาเลเซีย และนำเข้าจากจีน พม่า และออสเตรเลีย