ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจัดฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบ โดยจำลองสถานการณ์ เครื่องบิน แบบ A300-600 พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 250 คนระบบไฮดรอลิกขัดข้องขณะร่อนลงลื่นไถลออกนอกทางวิ่งและเกิดไฟไหม้ พอใจหน่วยดับเพลิงถึงจุดเกิดเกตุใน3 นาทีตามมาตรฐาน
วันนี้ (4 ก.ค.) นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประจำปี 2557 (SEMEX-14) โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานราชการ สายการบิน ผู้ประกอบการ เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกซ้อม
นาวาอากาศเอก สมัย จันทร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายปฏิบัติการ) ทอท. ในฐานะผู้รับผิดชอบการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินในครั้งนี้ เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) กำหนดให้มีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบ โดยจำลองสถานการณ์กรณีอากาศยานอุบัติเหตุ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมตามบทที่ 1 ของแผนฉุกเฉิน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมฝึกปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อให้สามารถระงับเหตุและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO)
สำหรับการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินในครั้งนี้ ได้มีการจำลองสถานการณ์ในเวลา 02.00 น. ของวันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2557 ว่ามีอากาศยานแบบ A300-600 พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 250 คนได้เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งขณะเครื่องทำการร่อนลง ระบบไฮดรอลิกของอากาศยานเกิดขัดข้องอย่างกะทันหัน ทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมทิศทางของอากาศยานได้ ส่งผลให้อากาศยานลำดังกล่าวลื่นไถลออกนอกทางวิ่ง ฐานล้อหลักด้านขวาหัก ลำตัวอากาศยานและเครื่องยนต์เสียดสีกับพื้นจนได้รับความเสียหาย และเกิดเพลิงลุกไหม้ มีผู้โดยสารเสียชีวิต 2 คน ซึ่งการฝึกครั้งนี้ ฝ่ายดับเพลิงและกู้ภัยสามารถเข้าพื้นที่เกิดเหตุได้ภายใน 3 นาทีและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมฝึกซ้อมได้มีการเรียนรู้การฝึกปฏิบัติตามสถานการณ์จำลองในสถานที่จริง เช่น วิธีการดับเพลิง การอพยพหนีไฟ เส้นทางหนีไฟ การค้นหา ช่วยเหลือ และเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติตามมาตรฐานแผนฉุกเฉินท่าอากาศยานเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการและสายการบินด้านมาตรฐานความปลอดภัยได้ในระดับสากล
นาวาอากาศเอกสมัย กล่าวว่า การฝึกซ้อมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สายการบิน และผู้ประกอบการ เช่น กรมการบินพลเรือน บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กองบังคับการตรวจคน เข้าเมือง 2 สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สถานีตำรวจภูธร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ และโรงพยาบาลที่อยู่โดยรอบ ร่วมส่งเจ้าหน้าที่เข้ารับการฝึกซ้อมประมาณ 500 คน และการฝึกซ้อมครั้งนี้ทุกหน่วยสามารถประสานการปฏิบัติงานแบบบูรณาการได้เป็นอย่างดี
โดย ภายหลังการฝึกซ้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะมีการประชุมสรุปผลการฝึกซ้อมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อประเมินผล และนำไปปรับปรุงแผนฉุกเฉินให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง
อย่่างไรก็ตาม ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเป็นประจำทุกปีตามมาตรฐาน ICAO โดยในแต่ละปี จะมีการกำหนดหัวข้อการฝึกซ้อมให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น ในปี 2555 ได้มีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบกรณีผู้โดยสารเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ในปี 2554 มีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินบางส่วน กรณีมีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลในอาคารคลังสินค้า เป็นต้น