xs
xsm
sm
md
lg

“สหพัฒน์” ผุดฐานผลิตต่างประเทศ จี้ คสช.แก้ส่งออก-หนุนผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์
ASTVผู้จัดการรายวัน - “สหพัฒน์” วางโรดแมป 2 ปีนี้ ทุ่ม 2,000 ล้านบาท ทุ่มลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ยึด 3 ปาร์ตี้ร่วมทุน พุ่งเป้าหมายตลาดประเทศด้อยพัฒนากับเออีซี ปูฐานการผลิตและการตลาด เชียร์ คสช.ทำงานเร็ว และดี ถูกทาง ให้คะแนน 9.9 เต็ม 10 พร้อมเสนอให้เร่งแก้ปัญหาส่งออกและให้สิทธิด้านภาษีกับเอกชนที่ลงทุนเครื่องจักรใหม่ ยันไม่กลัวอียู-มะกันจะตัดสิทธิทางการค้า

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาเนื่องจากประเทศเหล่านี้จะเปิดรับสินค้าจากเอเชียได้มากกว่าและเน้นลงทุนในประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะมีผลในปี 2558 โดยในช่วง 2 ปีจากนี้ตั้งงบลงทุนรวมไว้ที่ 2,000 ล้านบาท แยกเป็นในประเทศ 70% และต่างประเทศ 30% โดยเป็นเงินหมุนเวียนไม่มีการกู้แบงก์ เพื่อขยายฐานการผลิตและการขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยยึดหลักลงทุน 3 ฝ่าย คือ สหพัฒน์ ญี่ปุ่น และคนท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ ส่วนแบรนด์ที่ใช้นั้นจะมีทั้งแบรนด์ของสหพัฒน์เองและแบรนด์ของญี่ปุ่นแล้วแต่ความเหมาะสม

ทั้งนี้ การลงทุนตามแผนงานที่ดำเนินการแล้วคือ การหาพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพื่อลงทุนโรงงานผลิตผงซักฟอกเพื่อจำหน่ายในประเทศพม่า ด้วยเงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับไลอ้อน ญี่ปุ่น โดยสหพัฒน์จะถือหุ้น 30% ส่วนที่กัมพูชากับพม่ามีโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่แล้ว โดยเตรียมที่จะสร้างโรงงานผลิตบะหมี่อีกที่บังกลาเทศและฮังการี สาเหตุที่ลงทุนที่บังกลาเทศเพราะบังกลาเทศมีข้อตกลงสัญญาทางการค้ากับทางประเทศอินเดียว่าสามารถใช้ฐานผลิตที่บังกลาเทศเพื่อส่งไปยังประเทศอินเดียได้แต่ยังไม่สรุปรายละเอียด

ส่วนที่เวียดนามกำลังพิจารณารายละเอียดว่าจะทำอะไร แต่คาดว่าจะนำเข้าสินค้าไปจำหน่ายโดยยังไม่มีแผนตั้งโรงงาน เช่นเดียวกับที่ สปป.ลาว ซึ่งจะมีการตั้งเอเยนต์ในการจำหน่ายสินค้าด้วย ส่วนที่กัมพูชาก็เพิ่งตั้งบริษัทเทรดดิ้งเพื่อนำสินค้าไปจำหน่ายให้กับศูนย์การค้าอิออน ขณะที่อินโดนีเซียก็มีเอเยนต์สินค้าแฟชั่นแล้วแต่ยังไม่มีแผนตั้งโรงงานผลิต

ล่าสุดในไทยได้มีการขยายการลงทุนคือ การร่วมทุนระหว่าง บริษัท ไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่น แอนด์ ลอจิสติคส์ จำกัด กับ เอ็ม เค กรุ๊ป ของพม่า เพื่อจัดตั้งบริษัท ไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่น แอนด์ ลอจิสติคส์ (เมียนมาร์) จำกัด เพื่อที่จะให้บริการลอจิสติกส์ในพม่า และน้ำนมถั่วเหลืองมารูซันที่ร่วมลงทุนกับญี่ปุ่น เริ่มวางจำหน่ายปีนี้

สำหรับเครือสหพัฒน์แม้ว่าไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ยอดขายจะปรับตัวลดลง แต่คาดว่าปลายปีนี้ยอดขายจะปรับตัวดีขึ้นเท่ากับปีที่แล้ว แต่ต้องประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง ส่วนการจัดงาน “สหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 18” ระหว่างวันที่ 26-29 มิ.ย. 57 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดว่าจะมีผู้เข้ามาร่วมงานเพื่อจับจ่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคมากกว่า 1 ล้านคน มียอดขายรวมกว่า 300 ล้านบาท

•หนุน คสช. ทำงาน “เร็วและดี”•
นายบุณยสิทธิ์ยังกล่าวถึงการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ด้วยว่า หลังจากที่ คสช.ได้เข้ามาบริหารประเทศเป็นเวลา 1 เดือนกว่าแล้วนั้น ขอให้คะแนน 9.9 เต็ม 10 คะแนน เนื่องจากทำงานได้เร็วและแก้ปัญหาหลายอย่างที่รัฐบาลชุดก่อนไม่ได้ทำ หรือทำแต่ไม่ถูกทาง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการให้ คสช. หรือรัฐบาลชุดใหม่เร่งรีบดำเนินการคือ เร่งแก้ปัญหาการส่งออกให้เร็วโดยเฉพาะสินค้าเกษตร เนื่องจากจะทำให้รากหญ้า หรือเกษตรกรมีรายได้ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการสนับสนุนภาคการผลิตของเอกชน เช่น การให้สิทธิผลประโยชน์ทางด้านภาษี หากมีการลงทุนเครื่องจักรใหม่ๆ ที่ลดต้นทุนการผลิตได้

“ผมคิดว่า 1 เดือนที่ผ่านมา คสช. มีบทบาทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในขณะนี้เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว บรรยากาศการลงทุนและการส่งออกเริ่มคึกคักมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคต่างก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มสูงสุดในรอบ 14 เดือน”

•ไม่กลัว “มะกัน-อียู” ขู่ตัดสิทธิ•
นายบุณยสิทธิ์ยังกล่าวให้ความเห็นกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศลดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยจากเทียร์ 2 เป็นเทียร์ 3 และกรณีรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ของประเทศสมาชิกแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ปรับลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างอียู-ไทย ว่า คาดว่าคงเป็นการขู่จากอเมริกามากกว่าที่จะเป็นจริง เช่นเดียวกับคำถามที่ว่ากลุ่มประเทศอียูจะตัดสิทธิทางการค้าประเทศไทยอันเนื่องมาจากการกล่าวหาเรื่องการใช้แรงงานและการค้ามนุษยด้วยว่าจะเป็นอย่างไรนั้น นายบุณยสิทธิ์ตอบว่า เขาคงไม่กล้าตัดสิทธิเรา แต่ถ้าตัดสิทธิจริงเราก็ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพวกเขาก็ได้ เราก็ยังมีประเทศอื่นอีกมากมายที่ทำตลาดได้ เช่น จีน ญี่ปุ่น แอฟริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น เขาบีบเราไม่ได้หรอก ดีไม่ดีเราเองจะบีบเขาด้วยเมื่อเรารวมเป็นเออีซีกันแล้ว เพราะเมื่อรวมเป็นเออีซีแล้ว รายได้ในกลุ่มเออีซีก็จะมีมากขึ้น ศักยภาพแต่ละประเทศก็ดีขึ้น ทำให้พวกเราสามารถบีบสหรัฐอเมริกากับยุโรปยังได้เลย


กำลังโหลดความคิดเห็น