xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานจ่อเสนอ “กพช.” ชี้ชะตาเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอ “กพช.” ชุดใหม่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ตัดสินใจเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่หลังยืนยันทำตามขั้นตอนเปิดรับฟังความเห็นรอบด้านแล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ชุดใหม่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ จะมีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติการเปิดยื่นขอสำรวจแหล่งปิโตรเลียมรอบที่ 21 เนื่องจากที่ผ่านมามีความล่าช้ามากว่า 2 ปี เพราะถูกคัดค้านจากประชาชน ทำให้ที่ผ่านมาต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการตามขั้นตอนจนเสร็จสิ้นแล้ว

ทั้งนี้ ไทยมีความจำเป็นต้องเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมไว้ใช้เอง เพราะหากไม่จัดหาเองเพิ่มขึ้นจะทำให้ปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดลง ซึ่งจะทำให้ไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มีราคาแพงกว่าอ่าวไทยกว่าเท่าตัวซึ่งจะกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าในระยะยาวให้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ปัจจุบันไทยใช้ก๊าซฯ ระดับ 1.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ขณะที่ก๊าซฯ อ่าวไทยที่พิสูจน์แล้วมีปริมาณ 9 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หากไม่พบปริมาณสำรองเพิ่มก๊าซฯ ที่เหลือนี้จะหมดลงไปในอีก 7 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ แหล่งปิโตรเลียมที่จะนำมาเปิดให้มีการยื่นขอสำรวจในรอบ 21 นี้ จะเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ กลุ่มพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง จำนวน 6 แปลง กลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 11 แปลง และกลุ่มพื้นที่ในอ่าวไทยจำนวน 5 แปลง รวม 22 แปลง ทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยเปิดให้มีการสำรวจมาก่อน ซึ่งเป็นการเลือกเฉพาะพื้นที่ที่คิดว่ามีศักยภาพปิโตรเลียมจริงๆ และหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่คาดว่าจะมีปัญหา เช่น พื้นที่ชุมชน พื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ใกล้ฝั่ง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังต้องการให้ คสช.เร่งตัดสินใจต่อสัญญาสัมปทานแปลงปิโตรเลียมที่จะหมดอายุลงเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เพราะจะก่อให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่วนเรื่องผลประโยชน์ของประเทศนั้น ถ้ายังเชื่อว่าระบบ Thailand 3 ให้ผลประโยชน์แก่ประเทศชาติน้อย คสช.ก็สั่งการให้แก้ไขให้มีการเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นค่าภาคหลวง, ภาษีเงินได้ หรือแม้แต่ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ไปในอัตราที่เหมาะสม

“เรื่องนี้ต้องรีบคิด รีบตัดสินใจ เพราะในปี 2565 และปี 2566 สัญญาสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมตาม พ.ร.บ. ปี 2514 กำลังจะหมดลง เพราะธุรกิจนี้ต้องอาศัยเวลา ไม่เหมือนการลงทุนด้านอื่น เพราะต้องลงทุนเพิ่มในการขุดเจาะอยู่เสมอ ยิ่งแหล่งน้ำมันในบ้านเราเป็นแหล่งเล็กๆ ยิ่งต้องลงทุนต่อเนื่อง คงไม่มีใครเสี่ยงทำถ้าไม่เห็นอนาคตที่ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร”


กำลังโหลดความคิดเห็น