“พาณิชย์” ยันระบายข้าวในสต๊อกแน่แต่ต้องรอให้ คสช.ไฟเขียวก่อน พร้อมวางแผนปรับระบบการประมูลในเอเฟตใหม่เพื่อดึงให้คนมาร่วมประมูลมากขึ้น โรงสีแนะให้ใช้ช่องทางนี้ทางเดียวในการขายข้าว เหตุโปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมเสนอแผนดึงราคาข้าวให้ตั้งโต๊ะรับซื้อหากราคาตก และสั่งให้ผู้ส่งออก โรงสี เพิ่มปริมาณสต๊อกสำรอง
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย องค์การคลังสินค้า (อคส.) กรมการค้าภายใน และผู้บริหารตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟต) เพื่อหาแนวทางส่งเสริมให้มีการซื้อขายสินค้าเกษตรในเอเฟตว่า ได้พิจารณาแนวทางการปฏิบัติงานของเอเฟตที่ผ่านมา รวมถึงจุดอ่อนของการประมูลข้าวสต๊อกรัฐบาลผ่านเอเฟต ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อย ส่งผลให้ขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จึงได้มีการหารือเพื่อจัดทำแนวทางในการจูงใจเพื่อให้มีผู้สนใจเข้ามาซื้อขายในเอเฟตมากขึ้น
ส่วนการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ทั้งผ่านเอเฟตหรือช่องทางอื่นๆ ขณะนี้คงต้องระงับไว้ก่อน ส่วนจะกลับมาเปิดระบายอีกเมื่อไรคงต้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาก่อน แต่ในระยะยาวต้องมีการระบายข้าวแน่ โดยยึดหลักไม่กระทบต่อราคาตลาด
นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า หากรัฐต้องการให้เอเฟตเข้มแข็ง และมีปริมาณการซื้อขายมากขึ้นก็ควรระบายข้าวผ่านเอเฟตเพียงช่องทางเดียว เพราะเป็นช่องทางที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และผู้เข้าร่วมประมูลเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าสัญญา ค่าโบรกเกอร์ ถูกกว่าภาษี ณ ที่จ่ายที่เก็บจากผู้ส่งออกด้วยซ้ำ
สำหรับแนวทางในการช่วยเหลือชาวนา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหารือกับชาวนาถึงความต้องการที่แท้จริงให้ได้ก่อน จากนั้นจึงมาพิจารณาร่วมกับผู้ส่งออกและโรงสีว่าจะช่วยเหลือตามแนวทางที่ชาวนาต้องการได้หรือไม่ เพราะการที่ชาวนาเสนอ คสช.ให้จ่ายชดเชยปัจจัยการผลิตไร่ละ 3,000 บาทคงเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้เป็นหลายแสนล้านบาท รัฐบาลคงไม่มีเงินมากขนาดนี้ ซึ่งทางที่ดีที่สุดคือ การประกาศราคาข้าวต่ำสุด หากต่ำกว่านี้ก็จะเข้าไปตั้งโต๊ะรับซื้อ เช่น ราคาตันละ 7,000 บาท และขยับราคาขึ้นเรื่อยๆ เป็น 7,500-8,000 บาท เป็นต้น
นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า การดูแลราคาข้าวเปลือกด้วยการรับจำนำคงเป็นไปได้ยาก เพราะใช้งบประมาณสูง ส่วนการชดเชยปัจจัยการผลิตจะทำหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย แต่เบื้องต้นต้องการให้มีการจัดโซนนิ่งเพาะปลูกสินค้าเกษตรให้เหมาะสม หากไม่เหมาะที่จะปลูกข้าวก็ให้ปลูกมันสำปะหลังหรืออ้อยแทน
ส่วนการดึงราคาข้าวให้สูงขึ้น เสนอให้มีการเพิ่มปริมาณการเก็บสต๊อกข้าวของผู้ส่งออกจากเดิม 500 ตัน เป็นเพิ่มเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดส่งออก เช่น ส่งออก 1 ล้านตันก็ต้องสต๊อก 1-1.5 แสนตัน ส่วนโรงสีก็ต้องเก็บสต๊อกปริมาณ 10-30 เท่าของกำลังการผลิต ซึ่งจะช่วยให้มีการแย่งซื้อข้าวในตลาดและราคาสูงขึ้นได้
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของโรงสีที่ขอให้กระทรวงพาณิชย์สั่งเพิ่มสต๊อกสำรองข้าวสารของผู้ส่งออกจาก 500 ตัน เป็น 10-15% ของยอดการส่งออก เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้กับภาคส่งออก ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งลำบากขึ้น