ผู้ใช้ไฟบ้านมีลุ้น! สกพ.เตรียมเสนอเรกูเลเตอร์เห็นชอบแนวทางให้ 2 การไฟฟ้าศึกษาเกณฑ์การจ่ายเงินดอกผลจากเงินประกันการใช้ไฟ แย้มอาจเป็น 5 ปีให้คิดครั้งหนึ่ง หรือเปิดช่องให้ผู้บริโภคเลือกบริจาคนำไปสร้างสาธารณประโยชน์อื่นๆ หลังผู้ใช้ไฟรายใหญ่ธุรกิจ อุตสาหกรรมได้รับคืนดอกผลไปแล้ว
นายประเทศ ศรีชมภู ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ สกพ.จะเสนอนโยบายต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (บอร์ดเรกูเลเตอร์) เพื่อพิจารณาหลักการคืนผลประโยชน์หรือดอกผลจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟบ้านที่อยู่อาศัยหรือผู้ใช้ไฟรายย่อย ซึ่งเบื้องต้นได้มอบหมายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ไปพิจารณาแนวทางการคืนดอกผลจากเงินดังกล่าวมาว่าจะดำเนินการเช่นไรซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
“เมื่อเราขอจดทะเบียนเป็นผู้ใช้ไฟก็จะต้องจ่ายเงินค่าประกันการใช้ไฟซึ่งคิดตามมิเตอร์ต่ำสุด 300 บาท สูงสุดประมาณ 4,000 บาท เงินส่วนนี้เหมือนสูญไปเลยเพราะเราก็ยังต้องใช้ไฟไปตลอด ต่างจากโทรศัพท์ที่ระยะหลังเขาคืนกลับให้ผู้บริโภคผ่านค่าโทรศัพท์ลดให้จนครบ จุดนี้มีผู้มาร้องเรียนโดยเมื่อทำในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่คือภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจในการคืนดอกผลให้ไปแล้วเราก็ต้องคืนดอกผลของเงินเหล่านั้นให้กับผู้ใช้รายย่อยด้วยแม้ว่าต่อรายเงินจะน้อยแต่เมื่อรวมแล้วก็คิดเป็น 100 ล้านบาทต่อปี” นายประเทศกล่าว
สำหรับแนวทางเบื้องต้นอาจจะให้ 2 การไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้จำหน่ายไฟให้แก่ผู้ใช้ไฟโดยคิดเฉลี่ย 5 ปีต่อครั้ง และหาก 2 การไฟฟ้าจะมีแนวคิดตั้งเป็นกองทุนเพื่อนำเงินดังกล่าวไปทำสาธารณประโยชน์ต่างๆ ก็ให้จัดทำเสนอมา โดยแนวทางการบริจาคก็อาจเป็นทางเลือกให้ประชาชนพิจารณาผ่านทางบิลค่าไฟฟ้าก็ได้ แต่ทั้งหมดจะต้องมีการสร้างหลักเกณฑ์ออกมาให้ชัด
นายประเทศกล่าวว่า ส่วนของกลุ่มผู้ใช้ไฟรายใหญ่ซึ่งเป็นภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมนั้นที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ร้องเรียนมาว่าควรได้รับดอกผลจากเงินประกันการใช้ไฟคืนบ้าง เพราะเอกชนได้มีการวางเป็นเงินสด พันธบัตร หรือแบงก์การันตี ดังกล่าว ซึ่งต่อมาทางเรกูเลเตอร์ก็ได้พิจารณาแนวทางคืนให้ผู้ที่จ่ายเป็นเงินสดตั้งแต่ 10,000 บาทต่อปีขึ้นไปให้พิจารณาคืนอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ของ บมจ.กรุงไทย และออมสิน ทุกปีเนื่องจากตามกฎหมายเจ้าของทรัพย์ถือเป็นเจ้าของดอกผลด้วย