xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐเร่งปฏิรูปภาษียาสูบ หลังรายได้วืดเป้า 3.3 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสร้างความน่าตกใจเป็นอย่างมากด้วยตัวเลขการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์อันแสนลำบากของกรมสรรพสามิต ซึ่งการจัดเก็บรายได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ต่ำกว่าเป้าที่คาดการณ์ไว้ถึงกว่าร้อยละ 10 แม้ได้มีการตั้งคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บภาษี โดยมุ่งเน้นไปที่การลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสุรา เบียร์ และบุหรี่จากต่างประเทศ ด้วยหวังว่าจะสามารถกระตุ้นการจัดเก็บภาษีขึ้นได้บ้าง แต่ทว่า ตัวเลขการประเมินในปีงบประมาณ 2557 นั้น รายได้จากการจัดเก็บของกรมฯ ก็ยังคงต่ำกว่าประมาณการราวๆ 4-5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจฟังดูเป็นจำนวนไม่มากนัก แต่หากตีเป็นเงินแล้วรัฐจะมีรายได้เพียง 4.3 แสนล้าน จากเป้า 4.63 ล้าน คือรัฐจะสูญรายได้ไปถึง 3.3 หมื่นล้านเลยทีเดียว

          ​เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวออกมามากมายเกี่ยวกับการปรับขึ้นราคาของบุหรี่นอกแบรนด์ดัง โดยทางบริษัทได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับต้นทุนการดำเนินงานและการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหลายคนอาจคิดว่า การขึ้นราคาเช่นนี้ จะส่งผลให้รัฐสามารถหารายได้จากการเก็บภาษีดังกล่าวเพิ่มขึ้นได้ แต่น่าเสียดายที่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น การปรับขึ้นราคาบุหรี่ไม่ได้สร้างรายได้เพิ่มให้แก่กรมสรรพสามิตเลยแม้แต่น้อย เนื่องด้วยระบบภาษียาสูบในปัจจุบันนั้น คำนวณภาษี จากราคาสำแดงนำเข้า ในกรณีบุหรี่นอก หรือราคาหน้าโรงงานในกรณีบุหรี่ไทย รวมทั้งระบบภาษียาสูบในปัจจุบันเรียกเก็บตามราคาบุหรี่ ซึ่งหมายถึงบุหรี่ราคาต่ำจะเสียภาษีถูก บุหรี่ราคาสูงเสียภาษีแพง เพราะฉะนั้น หากบริษัทบุหรี่ใช้วิธีซิกแซ็ก และแม่ไม้ทางภาษีแจ้งราคาต้นทุนต่ำ รัฐก็จะเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งยังส่งผลให้เกิดการทะลักของบุหรี่นำเข้าราคาต่ำอีกเช่นกัน ไม่รวมบุหรี่เถื่อนที่ลักลอบเข้าประเทศจากชายแดน

         ​ปัญหาไม่ได้จบเพียงเท่านั้น ในปัจจุบัน ผู้บริโภคหันไปสูบบุหรี่ที่ราคาถูกลง โดยสามารถวิเคราะห์ได้จากตัวเลขการจัดเก็บรายได้ในช่วงเดือน ต.ค. 56 - ก.พ. 57 ที่ลดลงถึงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ในทางกลับกัน จำนวนบุหรี่ที่วางขายในตลาดในช่วงเดือนดังกล่าว กลับสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งถ้ากรมสรรพสามิตหวังแต่จะเพิ่มรายได้ด้วยการปรับขึ้นภาษีเพียงอย่างเดียวนั้น จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปใหญ่ เพราะผู้บริโภคก็จะยิ่งหันไปหาบุหรี่ราคาถูก ทำให้ตลาดบุหรี่ราคาต่ำที่อาจใช้เทคนิคพิเศษในการเสียภาษีให้ถูกต้องจะยิ่งเติบโต ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ก็จะปั่นป่วนและไม่สามารถเก็บรายได้จากภาษีสรรพสามิตตามที่ควรจะเป็น

​           ภาษีเหล้า-เบียร์เพิ่งปฏิรูปกันไปหมาดๆ เนื่องจากเป็นภาษีที่คนให้ความสนใจ รวมทั้งทำรายได้ให้รัฐอย่างมหาศาล หากดูจากตัวเลขในปีที่ผ่านมานั้น ภาษีเหล้า-เบียร์ทำรายได้ให้แก่รัฐคิดเป็นร้อยละ 28.1 ของรายได้สรรพสามิตทั้งหมด ซึ่งหากมองดีๆ แล้ว ภาษียาสูบก็สร้างรายได้ให้แก่รัฐเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน โดยในปีที่ผ่านมา ภาษียาสูบจัดเก็บได้ถึง 67,891 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.68 ของรายได้ภาษีสรรพสามิตทั้งหมด ซึ่งหากรัฐต้องการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว ก็ถึงเวลาแล้วที่ควรเปลี่ยนวิธีคำนวณภาษีจากการสำแดงนำเข้า มาเป็นการคำนวณภาษีตามราคาขายปลีกที่โปร่งใส (RSP) โดยเฉพาะเมื่อบริษัทบุหรี่ปรับขึ้นราคาสินค้า กรมสรรพสามิตก็จะได้อานิสงส์จัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นไปในตัวอีกเช่นกัน

​          การคำนวณภาษีโดยใช้ราคาขายปลีกนี้ ทำให้บริษัทบุหรี่ทั้งที่เป็นผู้นำเข้า และผู้ผลิต สามารถกำหนดราคาขายปลีก (Recommended retail price) โดยราคาขายปลีก สามารถพิมพ์กำกับอยู่บนบรรจุภัณฑ์ซองบุหรี่ หรืออยู่ในรูปแบบแสตมป์ภาษี เพื่อให้กรมสรรพสามิตสามารถตรวจสอบฐานภาษีได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความโปร่งใสและซับซ้อนน้อยกว่าวิธีคำนวณภาษีจากการสำแดงนำเข้าเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังสามารถลดปัญหาการแจ้งราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าความเป็นจริงของบริษัทบุหรี่อีกด้วย

          ​การปฏิรูปภาษีนั้น มีทั้งความจำเป็นและจะสร้างประโยชน์มากมายให้แก่รัฐ จากการปฏิรูปภาษีเหล้า-เบียร์ที่ได้ทำไปแล้วนั้น ส่งผลดีให้กรมฯ สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเหล้าสามารถจัดเก็บได้มากขึ้นถึงร้อยละ 30 ส่วนเบียร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ซึ่ง ณ ตอนนี้ ถึงเวลาสมควรที่กรมฯ ควรพิจารณาปฏิรูปภาษียาสูบอย่างเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่รัฐ แทนที่จะเสี่ยงสูญรายได้ถึง 3.3 หมื่นล้าน!


กำลังโหลดความคิดเห็น