xs
xsm
sm
md
lg

ชะตาชีวิตดิน ตัดสินอนาคตประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาพการณ์เปลี่ยนไปหลายอย่าง โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของประชากรไทย และความต้องการอาหารของประชากรโลก ทำให้ประเทศไทยต้องโหมเพิ่มการเพาะปลูกและใช้ดินอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลให้ดินเสื่อมโทรมเรื่อยๆ เป็นดินทราย ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินกรด นับล้านๆ ไร่ ควบคู่ไปกับภาวะขาดแคลนน้ำ และการบุกรุกป่าเพื่อเปิดพื้นที่ทำกินใหม่ พื้นที่การเกษตรของประเทศไทยเพิ่มจาก 131 ล้านไร่เป็น 150 ล้านไร่ ในขณะพื้นที่ป่าหดตัวเหลือ 102 ล้านไร่ หรือประมาณ 31% ของทั้งประเทศ ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ปัญหาทรัพยากรป่าไม้ และดิน

นักวิชาการอาจมองปัญหาดินเป็นเรื่องของดิน แต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว “ทรงคิดว่าเป็นเรื่องของอนาคต เพราะที่ดินในโลกมีจำกัด ประเทศไทยมีที่ดิน 321 ล้านไร่ มีแค่นี้ มีมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว และประชากรก็เพิ่มขึ้นเรื่อย เพราะฉะนั้นถึงจุดจุดหนึ่งเราต้องเอาดินเลวมาใช้ ถ้าศึกษา และทำเสียเดี๋ยวนี้เราก็จะสามารถแก้ปัญหาได้เร็วได้ทันท่วงที” รศ.พิเศษ เล็ก มอญเจริญ อดีตข้าราชการกรมพัฒนาที่ดินที่เคยถวายงานสนองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าว

รศ.พิเศษ เล็ก กล่าวด้วยว่า โครงการพระราชดำริด้านดินส่วนใหญ่มีแต่ดินเสื่อมโทรมทั้งนั้น “เพราะพระองค์รู้ว่าในอนาคตต้องเอาดินเหล่านี้ไปใช้ อย่างดินเปรี้ยวของประเทศไทยไม่ได้มีที่พิกุลทองอย่างเดียว ดินเปรี้ยวในภาคกลางมีมากหลายล้านไร่ ผมเคยจัดประชุมดินเปรี้ยวโลก ฝรั่งมาเห็นบอกว่า ดินเปรี้ยวของประเทศไทยเป็นดินที่เปรี้ยวที่สุดในโลก”

คนที่ยืนยันดินเปรี้ยวที่สุดอีกคนคือ ดร.แฟรงค์ อาร์ มอร์แมน นักวิทยาศาสตร์ดินที่มีชื่อเสียงจากประเทศฮอลแลนด์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านดินจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องเป็นพระอาจารย์ด้านดินของพระองค์ ระบุผลจากการเจาะดินเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ว่า เป็นดินเลวที่สุดในโลก เพราะเป็นทั้งดินเค็มจากน้ำทะเลและเป็นดินเปรี้ยวจัดแบบแอซิด ซัลเฟต (acid sulfate) ซึ่งชาวฮอลแลนด์ถือเป็นดินที่นำมาซึ่งความโชคร้าย

ดร.พิสุทธิ์ วิจารสรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า ในขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพิพิธภัณฑ์เกษตรแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 พระองค์มีรับสั่งว่า “สมเด็จพระเทพรัตนฯ เคยถามว่า ทำไมจึงทำเฉพาะดินยากๆ หรือทำแต่ดินปัญหา ก็อธิบายให้ฟังว่า ดินยากๆ นั้นไม่มีคนทำ จึงต้องทำ ถ้าทำได้ก็จะมีประโยชน์ เมื่อก่อนเขาไม่เข้าใจ แต่เดี๋ยวนี้เขาเข้าใจแล้ว ดินดีๆ จะไม่ทำ”

เมื่อครั้งเสด็จฯ จังหวัดนราธิวาส ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาบอกว่า ดินพรุเปรี้ยว ปลูกข้าวไม่ได้ พระองค์ทรงคิดๆๆๆ วันหนึ่งพระองค์ตรัสกับผมว่า “เอางี้ดีกว่าสิทธิลาภ เราแกล้งดินกันไหม? เราแกล้งให้ดินมันเปรี้ยว เอาให้มันเปรี้ยวถึงที่สุด แล้วก็หาวิธีทำให้มันหายเปรี้ยว “นายสิทธิลาภ วสุวัต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ย้อนความหลังถึงที่มาโครงการแกล้งดิน

ปัญหาดินเปรี้ยวนราธิวาสเป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผลการวิเคราะห์ดินทราบว่าดินมีกรดกำมะถันสูง โจทย์แกล้งดินให้เปรี้ยวถึงที่สุด จึงต้องวางแผนทำให้ดินเปียกและแห้งสลับกันโดยปั๊มน้ำเข้าและปั๊มน้ำออกเพื่อให้ดินปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมาให้มาก ทำให้ดินเป็นกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด แล้วจึงใช้น้ำชะล้างความเปรี้ยวร่วมกับหินปูนฝุ่นจนสามารถปลูกข้าวได้ และให้ผลผลิต เฉลี่ย 30-40 ถัง/ไร่

ดร.พิสุทธิ์เล่าว่า ทรงรับสั่งเมื่อเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรว่า “นี่เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่พูดมา 3 ปี หรือ 4 ปีว่าต้องการน้ำสำหรับมาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วจะหายโกรธ อันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี่ แล้วมันได้ผล....อันนี้เป็นผลงานของเราที่ทำที่นี่ เป็นงานที่สำคัญที่สุด เชื่อว่าชาวต่างประเทศเขามาดูเราทำอย่างนี้แล้ว เขาก็พอใจ เขามีปัญหานี้แล้วเขาไม่ได้แก้ หาตำราไม่ได้”

ศ.พิเศษ ดร.สันทัด โรจนสุนทร ราชบัณฑิต กล่าวว่า โครงการแกล้งดินเป็นโครงการเดียวในโลกที่แก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวได้สำเร็จ โดยอ้างถึงคำยืนยันจาก ดร.ฮารี เอสเวอรัน จากสถาบันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา (USDA)

“เท่าที่ทราบ โครงการแกล้งดิน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2527 เป็นโครงการเดียวในโลกที่ถือว่าประสบความสำเร็จในด้านการใช้ประโยชน์ของดินเปรี้ยวจัด มีหลายประเทศพยายามแก้ไขดินเปรี้ยวจัดนี้ ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า ดินแอซิด ซัลเฟต (acid sulfate)

ความสำคัญของโครงการนี้อยู่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระอัจฉริยภาพในการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการบูรณาการ ซึ่งหมายถึงไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องดินเท่านั้น แต่เป็นการมองทั้งระบบนิเวศ ซึ่งในขณะนั้นการใช้ระบบนิเวศเป็นตัวกำหนดยังมีน้อยมาก และไม่เป็นที่นิยม อย่างไรก็ดี เพราะรูปแบบของโครงการถือว่ามีบูรณาการเต็มรูปแบบ ในตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบดีว่าการแก้สภาพความเป็นกรดจัดของดินแต่อย่างเดียวจะเป็นกระบวนการที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้น ในภาพรวมรัฐจึงต้องเข้ามาเป็นผู้ช่วยเหลือในแง่งบประมาณ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบปัญหาทั้งหมดเป็นอย่างดี และทรงเข้าช่วยเหลือในแง่ของการบริหารจัดการจนประสบความสำเร็จ

ปกติแล้วนักวิทยาศาสตร์ดินจะมองว่า นี่คือปัญหาของดิน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมองว่าเป็นปัญหาของคน (ที่จะใช้) ดังนั้นการเปลี่ยนจุดเน้น ทำให้เป็นการมองอย่างเป็นองค์รวมมากขึ้น

พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการแก้ไขดินเปรี้ยวจัดอย่างได้ผล ทำให้ทรงได้รับพระราชสมัญญานามเทิดพระเกียรติว่า เป็นนวัตกรรมที่ล้ำยุคเป็นอย่างยิ่งในขณะนั้น และจนถึงแม้ในปัจจุบันก็ตาม” ถ้อยแถลงของ ดร.ฮารี เอสเวอรัน

ดินมีปัญหาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเอ่ยถึงกระจายตามภูมิภาคต่างๆ โดยที่พระองค์ทรงศึกษาและแก้ปัญหา จนเป็นที่ประจักษ์ผ่านศูนย์ศึกษาพัฒนาต่างๆ เช่น ห้วยฮ่องไคร้ เขาหินซ้อน พิกุลทอง ห้วยทราย ภูพาน และ ฯลฯ

เป็นสายพระเนตรอันกว้างไกลราวหยั่งรู้อนาคต เพราะเราจำเป็นต้องใช้ที่ดินที่มีอยู่จำกัดและพัฒนาขึ้นมา โดยไม่จมปลักอยู่กับปัญหาของดิน จึงไม่น่าประหลาดใจที่องค์การสหประชาชาติจะยกย่องยอมรับผลงานของพระองค์ โดยยึดถือเอาวันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก นับแต่ปี 2557 นี้เป็นต้นไป ท่ามกลางการร่วมเฉลิมฉลองของชาติสมาชิกกว่า 200 ประเทศพร้อมเพรียงกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น