“บีโอไอ” ปรับรูปแบบส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นลักษณะคลัสเตอร์ท่องเที่ยว คาดดึงเม็ดเงินลงทุนได้เพิ่มขึ้น เผยล่าสุดมีผู้ขอยื่นลงทุนสนามแข่งรถระดับสากลที่ จ.บุรีรัมย์
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยถึงภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ว่า บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเพื่อให้ระดับมาตรฐานของผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้มาตรฐานเดียวกันเพื่อตอบสนองลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น บีโอไอจึงเตรียมปรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใหม่ โดยจะปรับมาเป็นให้การส่งเสริมโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในลักษณะคลัสเตอร์ คาดว่าจะประกาศใช้ได้ช่วงต้นปี 2558
ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมจะสอดรับกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติเป็นหลัก จำแนกกลุ่มท่องเที่ยวที่มีศักยภาพที่ต้องการส่งเสริมฯ เป็น 8 คลัสเตอร์ ได้แก่ กลุ่มอารยธรรมล้านนาและภาคเหนือตอนบน กลุ่มมรดกโลกเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กลุ่มอารยธรรมอีสานใต้ กลุ่มวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง กลุ่มวิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำภาคกลาง กลุ่ม Active Beach กลุ่ม Royal Coast และกลุ่มมหัศจรรย์สองสมุทร ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกต่างของสินค้าการท่องเที่ยว เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวที่มูลค่าสูงขึ้น
ทั้งนี้ ช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาบีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนในโครงการในกิจการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาแล้ว คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งกลุ่มธุรกิจให้บริการด้านการท่องเที่ยวโดยตรงและธุรกิจสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งธุรกิจโรงแรมเป็นกลุ่มที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดและได้รับอนุมัติมากที่สุดคิดเป็นมูลค่าถึง 80,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจสนับสนุนอื่นๆ ที่ได้ให้การส่งเสริมไปแล้ว เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวทางเรือที่ภูเก็ต ธุรกิจอุทยานสัตว์น้ำ สถานที่หรือศูนย์แสดงวัฒนธรรม-ศิลปะ และล่าสุดมีผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนสนามแข่งขันรถยนต์มาตรฐานสากลใน จ.บุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น
นางเพ็ญพัฒน์ มรกตวิศิษฎ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท บลู นาคราช จำกัด ผู้ให้บริการธุรกิจนำเที่ยวทางเรือที่ภูเก็ต กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่ดีในการช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวของไทยโดยเฉพาะที่ภูเก็ตให้มีคุณภาพที่เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น อย่างไรก็ตามยอมรับว่าจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ต ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง แต่ภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวยังคงเดินหน้าต่อไปได้ เพราะภูเก็ตมีท่าอากาศยานนานาชาติ ช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางตรงมาที่ภูเก็ตได้โดยไม่ต้องผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ