xs
xsm
sm
md
lg

SCB FIRST ติวเข้มนักธุรกิจเตรียมลุยเมียนมาร์ มองแนวโน้มการลงทุนสดใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ไทยพาณิชย์ติวเข้มผู้ประกอบการนำธุรกิจบุกเมียนมาร์ จัดสัมมนา "SCB FIRST เปิดโลก AEC เจาะลึกเมียนมาร์ 360°" ระบุจุดเด่น-ด้อย พร้อมเผย 10 อันดับธุรกิจฮอต ติดตามได้ที่ www.scb.co.th/scbfirst/aec

รายงานข่าวจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ SCB FIRST ได้จัดงานสัมมนา "SCB FIRST เปิดโลก AEC เจาะลึกเมียนมาร์ 360°"โดยมีการประมวลข้อมูล ความคิดเห็น ตลอดจนกรณีศึกษาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวเมียนมาร์ รวมทั้งนักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จในตลาดเมียนมาร์ มาจุดประกายและสร้างแรงกระตุ้นให้นักลงทุน ผู้ประกอบการไทย หันมาพิจารณาตลาดเศรษฐกิจใหม่ที่ร้อนแรงที่สุดแห่งอาเซียนอย่างจริงจัง และเตรียมความพร้อมสำหรับสนามการแข่งขันใหม่ที่เต็มไปด้วยพลังดึงดูดพอๆ กับความท้าทายในระดับที่ไม่ธรรมดา

ทั้งนี้ งานสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อมอบเอกสิทธิ์ในการเปิดประสบการณ์ใหม่ด้านความรู้เชิงธุรกิจให้สมาชิก SCB FIRST กว่า 500 ท่าน ตามแนวคิด YOU ARE FIRST TO LEARN เนื่องจากธนาคารได้ตระหนักถึงศักยภาพและการลงทุนของเมียนมาร์ภายหลังการเปิดประเทศ และการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญซึ่งส่งผลให้ธุรกิจไทยมีโอกาสที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในการขยายตลาดสู่ระดับภูมิภาคที่มีประชากรสูงถึง 600 ล้านคน รวมทั้งการที่เมียนมาร์มีภูมิศาสตร์ที่ตั้งอันโดดเด่น เป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน รวมถึงการมีพรมแดนติดกับประเทศจีน จึงเป็นจุดศูนย์กลางของตลาดบริโภคขนาดมหึมาที่มีประชากรกว่า 2,700 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก

ขณะที่ปัจจัยที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเมียนมาร์คือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลังงานจากต้นไม้ การสื่อสารโทรคมนาคม ถนน ท่าเรือและสนามบิน การปฏิรูปประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2555 ส่งผลให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 เขต ประกอบด้วย Kyauk Phyu ซึ่งมีจุดเด่นทั้งท่อส่งก๊าซ และทางรถไฟเชื่อมสู่ประเทศจีน Dawei (ทวาย) ซึ่งเชื่อมต่อกับพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทย และ Thilawa ซึ่งมีอาณาเขตติดกับย่างกุ้งและเหมาะที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างฐานการผลิต เพราะทำเลที่ตั้งใกล้ประเทศไทยที่สุด



สำหรับอุตสาหกรรมที่กำลังเป็นที่ต้องการเร่งด่วนในตลาดเมียนมาร์ขณะนี้ ประกอบด้วย ธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก อุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเกษตรและการผลิต/แปรรูปอาหาร ซึ่งหากมองในด้านผลิตภัณฑ์ โอกาสในการทำธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการสูงสุดของตลาดเมียนมาร์ 10 อันดับ ประกอบด้วย อันดับแรก โทรศัพท์เคลื่อนที่ อันดับที่ 2 รถยนต์ อันดับ 3 จักรยานยนต์ อันดับ 4 บ้านพักอาศัย อันดับ 5 ห้างสรรพสินค้า อันดับ 6 จานดาวเทียม อันดับ 7 โรงแรม อันดับ 8 การท่องเที่ยว อันดับ 9 ธุรกิจสิ่งพิมพ์ และอันดับ 10 คือ โฆษณา

อย่างไรก็ตาม การลงทุนหรือขยายธุรกิจสู่เมียนมาร์ก็ยังมีประเด็นความท้าทายในหลายๆ จุดที่ผู้ประกอบการควรศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน อาทิ กรณีรัฐบาลเมียนมาร์ยังไม่อนุญาตให้บริษัทต่างชาติดำเนินกิจการเป็นบริษัทเพื่อประกอบกิจการค้าในเมียนมาร์ แต่ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินการค้ากับเมียนมาร์ได้โดยใช้นิติบุคคลในไทยทำการค้ากับผู้ประกอบการในเมียนมาร์ในลักษณะของการนำเข้า–ส่งออก เหมือนที่ดำเนินธุรกิจกับประเทศอื่นๆ ด้วยการหาพันธมิตรธุรกิจในเมียนมาร์

ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองก็ยังต้องพิจารณา เนื่องจากเมียนมาร์จะมีการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ จึงต้องดูในส่วนของนโยบายรัฐบาลใหม่ และท่าทีของต่างประเทศต่อรัฐบาล รวมถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และระบบสถาบันการเงินในบางจุดที่ยังไม่สามารถรองรับการลงทุนได้อย่างเต็มที่

ดังนั้น อุตสาหกรรมที่ยังไม่เหมาะกับการลงทุนในเมียนมาร์ขณะนี้คือ อุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ต้องพึ่งพาระบบสาธารณูปโภคมาก และการขนส่งสินค้า

ผู้ประกอบการที่ต้องการติดตามข้อมูลความรู้แบบ 360 องศา ครอบคลุมทุกแง่มุมที่นักธุรกิจและนักลงทุนควรรู้เพื่อเตรียมความพร้อมมุ่งสู่ตลาดเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูงแห่งอาเซียนจากงาน สัมมนา "SCB FIRST เปิดโลก AEC เจาะลึกเมียนมาร์ 360°" สามารถติดตามได้ทาง http://www.scb.co.th/scbfirst/aec



(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)


























กำลังโหลดความคิดเห็น