ASTVผู้จัดการ - กสทช.ผลาญหมื่นล้าน หลังอนุมัติเพิ่มมูลค่าคูปองงบแลกซื้ออุปกรณ์ทีวีดิจิตอล จากเดิม 690 บาท เป็น 1,200 บาท แจก 22 ล้านครัวเรือน ทั้งๆ ที่ราคาอุปกรณ์ในตลาดปัจจุบันไม่ถึง 1,000 บาท และควรถูกลงอีกตามปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น แถมอนุมัติให้นำคูปองไปแลกซื้อกล่องจานดาวเทียมได้ด้วย สงสัยเอื้อประโยชน์ธุรกิจดาวเทียมซึ่งเป็นระบบเปย์ทีวีไม่ใช่ทีวีสาธารณะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (31 มี.ค.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสทช.) ได้อนุมัติคูปองแลกซื้ออุปกรณ์ในการเปลี่ยนผ่านจากการชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลจากเดิม 690 บาท เป็นคูปองละ 1,200 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 510 บาท เท่ากับต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีกกว่า 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ กสทช.มีนโยบายจะนำคูปองดังกล่าวแจกจ่ายไปยังประชาชนจำนวน 22 ล้านครัวเรือน เพื่อให้นำคูปองไปใช้แลกซื้อกล่องเซตท็อปบ็อกซ์ หรือกล่องแปลงสัญญาณ เพื่อให้ประชาชนสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันราคากล่องดิจิตอลในตลาดโดยเฉลี่ยไม่เกิน 1,000 บาท เมื่อปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้นจากการสนับสนุนคูปองโดย กสทช. ถึง 22 ล้านครัวเรือน ต้นทุนการผลิตและราคาขายควรจะถูกลงตามหลักการประหยัดสืบเนื่องจากการขยายขนาดของการผลิต (Economy of Scale) ดังนั้น การอนุมัติคูปองที่ราคา 1,200 บาท จึงสูงเกินความจำเป็น ที่สำคัญ กสทช.ยังอนุมัติให้สามารถนำคูปองดังกล่าวไปแลกซื้อกล่องจานดาวเทียมได้อีกด้วย
แหล่งข่าวระบุว่า การอนุมัติให้เพิ่มราคาคูปองดังกล่าวถือเป็นการใช้งบประมาณที่เกินความจำเป็น และไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการสนับสนุนโครงข่ายทีวีดิจิตอล นอกจากนั้นการอนุมัติดังกล่าวก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าใครอยู่เบื้องหลังและได้ประโยชน์จากการอนุมัติของ กสทช.ครั้งนี้ เงินส่วนเกินกว่า 10,000 ล้านบาทจากการปรับเพิ่มคูปองไปเข้ากระเป๋าใคร
นอกจากนั้น การอนุมัติให้สามารถนำไปแลกซื้อกล่องจานดาวเทียมยังทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เป็นการนำงบประมาณที่ได้จากประมูลช่องทีวีดิจิตอล ไปใช้ในการอุดหนุนโครงข่ายทีวีประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะทีวีดาวเทียมซึ่งเป็นระบบโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (Pay TV) ไม่ใช่ระบบทีวีสาธารณะซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอลที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของสถานีโครงข่าย และผู้ประมูลช่องรายการซึ่งต้องแบกรับเงินลงทุนจำนวนมหาศาล หรือ กสทช.ควรจะนำเงินไปใช้ในการพัฒนาโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินในพื้นที่ห่างไกล เพื่อเสริมจุดบอดและสร้างการเข้าถึงผู้ชมสูงสุดในทุกครัวเรือนทั่วประเทศมากกว่า