กรมการค้าภายในเผยมีห้างบิ๊กซีแค่เจ้าเดียวยอมให้ความร่วมมือทำฟูดคอร์ตธงฟ้า ลดราคาอาหารในห้างจานละ 5-10 บาท เริ่ม พ.ค.นี้หรือต้น มิ.ย. ส่วนห้างอื่นยังยึกยัก เข้าใจมีค่าใช้จ่าย ค่าเช่าสูง เตรียมเรียกมาคุย หากพบสูงเกินจริงเล็งขอความร่วมมือให้ลดราคา หวังไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้ห้างบิ๊กซีได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับกรมฯ กรณีที่ได้ขอความร่วมมือห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) และห้างสรรพสินค้าให้ลดราคาอาหารที่ขายในฟูดคอร์ตของห้างลงจากเดิมอีก 20% หรือลดลงอีกจานละ 5-10 บาท โดยบิ๊กซีจะจัดแคมเปญฟูดคอร์ตธงฟ้า ส่วนจะลดราคาอาหารเหลือจานละเท่าไร และวิธีการจะดำเนินการอย่างไรยังไม่สามารถบอกได้ เพราะถือเป็นความลับทางการค้า แต่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ปลายเดือน พ.ค.หรือต้นเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนห้างเทสโก้ โลตัส ยังไม่แจ้งว่าจะดำเนินการอย่างไร ขณะที่ห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ต้องยอมรับความจริงว่าคงให้ความร่วมมือยาก เพราะมีค่าเช่าสถานที่และค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า และในทางธุรกิจอาหารที่ขายในฟูดคอร์ตของห้างสรรพสินค้ามีเป้าหมายกลุ่มผู้บริโภคอีกระดับหนึ่ง ซึ่งผู้บริโภคไม่น่าจะเดือดร้อน
“กรมฯ หวังว่าใครที่พร้อมให้ความร่วมมือทำฟูดคอร์ตธงฟ้าก็ให้ทยอยทำได้เลย ถือเป็นข้อได้เปรียบคู่แข่งด้วยซ้ำ เพราะสามารถใช้ดึงลูกค้าเข้าห้างของตนได้ และต้องลดราคาอาหารทุกประเภท ไม่ใช่ลดเฉพาะเมนู เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ส่วนห้างสรรพสินค้าคงยาก เพราะมีค่าเช่า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่แพง ก็ต้องเห็นใจร้านอาหารด้วย กรมฯ เองก็ไม่อยากไปบีบมาก บางทีผู้ประกอบการก็ทำด้วยความเกรงใจเรา” นายสันติชัยกล่าว
ทั้งนี้ สัปดาห์หน้ากรมฯ จะเชิญผู้ประกอบการห้างค้าปลีกและห้างสรรพสินค้ามาหารืออีกครั้ง เพื่อสอบถามความคืบหน้าการให้ความร่วมมือทำฟูดคอร์ตธงฟ้า รวมถึงจะสอบถามถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ และค่าเช่าสถานที่ในห้างด้วยว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หรือเอาเปรียบผู้เช่ามากเกินไปหรือไม่ ถ้าเห็นว่าเอาเปรียบมากเกินไปก็อาจจะขอความร่วมมือลดราคาลงมา แต่ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือก็อาจใช้กฎหมายดำเนินการ เพราะการเก็บค่าเช่า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สูงเกินไปมีผลกระทบต่อเนื่องถึงผู้บริโภค
นายสันติชัยกล่าวว่า สำหรับร้านอาหารธงฟ้า ล่าสุดมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการแล้วเกือบ 7,000 แห่งทั่วประเทศ โดยเป็นร้านอาหารในต่างจังหวัดกว่า 6,000 แห่ง และในกรุงเทพฯ ประมาณ 600-700 แห่ง ซึ่งร้านที่เข้าร่วมโครงการกรมฯ ได้จัดหาวัตถุดิบราคาถูกให้บางส่วน เพื่อให้เจ้าของร้านสามารถขายอาหารได้ตามราคาแนะนำที่จานละ 30-35 บาท ส่วนราคาอาหารแนะนำที่กำหนดใหม่ที่จานละ 30-35 บาท จากก่อนหน้านี้ที่กำหนดจานละ 25-30 บาทนั้น กรมฯ คงไม่ต้องประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าไปตรวจสอบและพบว่าร้านค้าใดขายเกินราคา ก็จะขอให้ปรับลดราคาลงมาขายตามราคาแนะนำ หรือถ้าประชาชนพบว่าร้านอาหารใดขายราคาสูงเกินจริง ก็แจ้งมาได้ที่สายด่วนกรมฯ 1569 จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบทันที
ส่วนการขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้าตรึงราคาขายสินค้า 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.นั้น กรมฯ อยู่ระหว่างการส่งหนังสือแจ้งผู้ผลิตสินค้า 205 รายการให้ความร่วมมือ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน และกรณีที่ได้ขอความร่วมมือสมาคมผู้ผลิตสบู่ไทยและผลิตภัณฑ์ชำระล้าง ให้ผลิตสินค้าสบู่ แชมพู ผงซักฟอก ให้ได้ขนาดมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันปัญหาการปรับลดขนาดสินค้าขายราคาเดิม ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบประชาชน สมาคมฯ กำลังหารือสมาชิกว่าจะดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด และจะให้คำตอบภายในเดือน พ.ค.นี้ หากไม่สามารถให้ความร่วมมือได้ กรมฯ ก็พร้อมใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กำหนดสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าควบคุม และใช้กฎหมายชั่ง ตวง วัด กำหนดขนาดสินค้ามาตรฐานได้