คณะ กก.ค่าโดยสารเรือประจำทางยังไม่นัดประชุมขึ้นราคาเรือด่วน แม้ชุดอนุฯ จะสรุปควรให้ปรับขึ้นระยะละ 1 บาทแล้ว “อธิบดีกรมเจ้าท่า” เผยต้องรอข้อมูลเรือข้ามฟากเพื่อพิจารณาพร้อมกัน ยอมรับผู้ประกอบการตรึงค่าโดยสาร แบกส่วนต่างราคาน้ำมันสูงกว่าต้นทุน พร้อมเตรียมหารือกรมธนารักษ์คลายเงื่อนกฎหมาย เดินหน้าดึงเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือยกระดับบริการ
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาอัตราค่าโดยสารเรือประจำทาง เปิดเผยว่่า ได้รับรายงานเบื้องต้นว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนต่างๆ ทั้ง ราคาเรือ ค่าบำรุงรักษา ค่าน้ำมันเขื้อเพลิง ค่าแรง ที่เป็นธรรมสอดคล้องกับต้นทุนจริง โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรปรับขึ้นค่าโดยสารอย่างน้อยระยะละ 1 บาท จากที่เสนอขอปรับขึ้นระยะละ 2 บาท แต่คณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ยังไม่ได้กำหนดประชุมเพื่อพิจารณาขั้นสุดท้าย เนื่องจากต้องการให้วิเคราะห์รายละเอียดในส่วนของค่าเรือข้ามฟากเสนอเข้ามาด้วยเพื่อพิจารณาพร้อมกัน ทั้งนี้ การอนุมัติปรับค่าโดยสารเป็นอำนาจของกรมเจ้าท่า แต่จะต้องหารือกับฝ่ายนโยบายกระทรวงคมนาคมด้วย
ซึ่งปัจจัยในการพิจารณาปรับค่าโดยสารเรือนั้นต้องดูองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งระบบด้วยซึ่งนอกจากเรื่องต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการเองจะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกและเรื่องความปลอดภัยให้สอดคล้องด้วย เช่น ติดตั้งเครื่องเสียงเพื่อแจ้งว่าท่าเรือต่อไปคืออะไรให้ผู้โดยสารทราบและการจัดเดินเรือที่เหมาะสม ซึ่งทางเรือด่วนเจ้าพระยาได้เสนอขอยกเลิกเดินเรือประจำทาง (เรือไม่มีธงจอดทุกท่า) เก็บค่าโดยสารตามระยะทาง โดยระบุว่ามีผู้โดยสารน้อยเนื่องจากผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นนักเรียน จะมีเฉพาะช่วงเช้าและเย็น โดยกรมฯ เห็นว่ายังไม่เหมาะสมที่จะยกเลิกเพราะนักเรียนจะได้รับผลกระทบต้องไปใช้เรือมีธงที่ค่าโดยสารสูงกว่า รวมถึงต้องมีอัตราค่าโดยสารโปรโมชันในรูปแบบต่างๆ เช่นตั๋วเดือน เป็นต้น
“ต้องยอมรับว่าต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นจริง ทั้งค่าแรง และราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งที่เคยมีการตกลงไว้อยู่ที่ไม่เกิน 27 บาทต่อลิตร ที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการช่วยตรึงค่าโดยสารในอัตราเดิมไปก่อนหลังราคาน้ำมันปรับขึ้นมาที่ 29.99 บาทต่อลิตรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนซึ่งผ่านมาเป็นปีแล้ว โดยยืนยันว่าการพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารเรือต้องมีข้อมูลอ้างอิงที่ชัดเจน และมีความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย” นายศรศักดิ์กล่าว
ส่วนการพัฒนายกระดับท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น นายศรศักดิ์กล่าวว่า จะต้องหารือกับกรมธนารักษ์เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในประเด็นข้อกฎหมายในส่วนของกรมธนารักษ์ที่ระบุห้ามทำธุรกิจบนท่าเรือสาธารณะให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งในเบื้องต้นกรมฯ มีการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือหลัก 27 แห่งในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น แผนปรับปรุงโป๊ะออกแบบและจัดผังการพัฒนาทั้งส่วนพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ปิดส่วนระบบการจัดเก็บค่าโดยสารและพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ไว้แล้ว รวมถึงได้หารือเบื้องต้นกับภาคเอกชนซึ่งพร้อมเข้ามาลงทุนในบางส่วน หากทำได้จะมีระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ผู้ใช้บริการมีความสะดวกมากขึ้นซึ่งจะพยายามผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมภายในปีนีื้
ด้านนาวาโท ปริญญา รักวาทิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด และประธานสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า เอกชนพร้อมลงทุนพัฒนาท่าเรือหลักก่อนอย่างน้อย 10 แห่ง เพราะจะเร่งการพัฒนาท่าเรือให้ทันสมัยได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องรองบประมาณเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งภาครัฐมักจะนำไปผูกกับค่าโดยสารด้วย ยังทำให้กรมฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งรายได้และค่าเช่าพื้นที่ซึ่งจะมีการจัดสรรแบ่งโซนการพัฒนาไว้อย่างชัดเจน