กรมการค้าต่างประเทศเตรียมพิจารณามอบเครื่องหมาย “โบทอง” ให้ผู้ผลิตนมอีก 5 ราย เพื่อรับประกันว่าใช้นมโคสดแท้ 100% ในการผลิตโดยไม่ใช้นมผง หลังจากนำร่องมอบให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาไปแล้ว คาดทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าได้บริโภคนมโคสดแท้ ไม่ใช่ใช้นมผงผสม
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติให้ผู้ผลิตนมโคจำนวน 5 ราย ได้แก่ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด สหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด และบริษัท กาฬสินธุ์แดรี่ฟูด จำกัด ที่ได้ยื่นขอใช้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์นมโคสดไทย “เครื่องหมายโบทอง” ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับประกันว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ผลิตจากนมโคสดแท้ 100% ไม่ได้ผสมนมผงนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้ในการผลิต โดยคาดว่าจะอนุมัติให้ใช้เครื่องหมายโบทองได้ในเร็วๆ นี้
“การนำเครื่องหมายโบทองไปติดไว้ที่ผลิตภัณฑ์ เป็นการรับประกันว่าผลิตภัณฑ์จากนมที่ผลิตได้เป็นนมโคสดแท้ 100% ไม่ได้มีการนำนมผงนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ FTA มาใช้ผสม ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการบริโภคผลิตภัณฑ์นมดังกล่าวว่าจะได้บริโภคนมโคสดแท้ๆ มีคุณค่าทางโภชนาการ ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้สามารถจำหน่ายนมโคสดได้ในราคาที่เพิ่มขึ้น จากการที่ผู้ผลิตหันมาใช้นมโคสดในการผลิตมากขึ้น”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมฯ ได้มอบเครื่องหมายโบทองแก่ผู้ผลิตแล้ว 1 ราย คือ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องหมายดังกล่าว แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อประมาณเดือน พ.ค. 2556 ปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าไว้ว่า ในอนาคตจะมีผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์นมที่เป็นภาคเอกชนยื่นขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองโบทองเพิ่มมากขึ้น
สำหรับเครื่องหมายโบทองเกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการเปิดเสรีทางการค้า และมีนมผงนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามา ทำให้สมาคมผู้เลี้ยงโคนมไทยโฮลสไตน์ฟรีเซียนร่วมกับชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ได้ยื่นขอความช่วยเหลือจากกองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้มีการศึกษาพบว่าการบริโภคนมโคสด 100% ดีกว่าการบริโภคนมที่ผลิตจากนมผง จึงได้มีการคิดค้นเครื่องหมายโบทองเพื่อรับประกันว่าผลิตภัณฑ์นมที่ติดเครื่องหมายนี้ใช้นมโคสดแท้ 100% และกรมการค้าต่างประเทศได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายดังกล่าว รวมทั้งได้ออกข้อบังคับเพื่อขอใช้เครื่องหมายดังกล่าวแล้ว