xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่น มี.ค.ต่ำสุดในรอบ 149 เดือน ชี้เศรษฐกิจไทยปีนี้ใกล้เคียงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค.ต่ำสุดในรอบ 149 เดือน นับจาก พ.ย. 44 หลังสารพัดปัจจัยรุมเร้า ทั้งการเมืองป่วนไม่เลิก การบริโภคชะลอตัว เศรษฐกิจถดถอย ชี้เศรษฐกิจไทยตอนนี้ใกล้เคียงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 เผยหากการเมืองไม่จบ ไม่มีรัฐบาลใหม่ครึ่งหลัง จีดีพีปีนี้ไม่โตหรือติดลบแน่

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน มี.ค. 2557 ที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนตัวอย่างทั่วประเทศ 2,256 รายว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 149 เดือน หรือ 12 ปี 5 เดือน นับจากเดือน พ.ย. 2544 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. 2557 อยู่ที่ 68.8 ลดลงจาก 69.9 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 53.9 ลดจาก 54.5 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 73.4 ลดจาก 74.7 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 58.7 ลดจาก 59.7 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 62.9 ลดจาก 63.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 84.9 ลดจาก 86.3

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีทุกรายการปรับตัวลดลงมาจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทย หลังการเลือกตั้งเป็นโมฆะ การตัดสินร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทขัดรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อการลงทุน ความวิตกกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยจากการปรับลดคาดการณ์ขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยเหลือ 2.7% จาก 3% และกระทรวงคลังเหลือ 2.6% จาก 4% ความล่าช้าของการจ่ายเงินจำนำข้าว ราคาข้าวและยางพาราราคาต่ำลง ซึ่งทำให้กำลังซื้อเกษตรกรลดลง รวมถึงความไม่แน่นอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นผลเชิงลบต่อทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคตของไทย ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายลง 0.25% การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย

“การบริโภคของประชาชนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวจนถึงปลายไตรมาส 2 เพราะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงยังไม่มีสัญญาณปรับฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะคลี่คลายลงเมื่อไร ซึ่งทำให้ประชาชนยังไม่เชื่อมั่น และเริ่มไม่มั่นใจในรายได้ในอนาคต เริ่มรู้สึกว่าข้าวของแพง และส่งผลให้บริโภคลดลง ทำให้ผู้ผลิตขายสินค้าไม่ได้ เริ่มจัดโปรโมชันลดแลกแจกแถมมากขึ้น แต่ยังเชื่อว่าไตรมาส 3 การบริโภคจะฟื้นตัวภายใต้เงื่อนไขต้องมีรัฐบาลใหม่”

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความอ่อนแอและเปราะบาง โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ต่ำกว่า 2% มีความเป็นไปได้มากขึ้น เพราะเมื่อมองบรรยากาศตอนนี้กับช่วงการฟื้นตัวหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง เห็นว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปัจจุบันใกล้เคียงกับช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งเศรษฐกิจไทยติดลบ 1.37% ขณะที่ในปีนี้ปัญหาการเมืองส่งผลกระทบมากต่อทั้งภาคการท่องเที่ยว การส่งออก การบริโภค และการลงทุน ทำให้เครื่องจักรแต่ละตัวที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยแผ่วลงไปมาก

“ศูนย์ฯ ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 2.5% โดยคาดว่าครึ่งปีแรกมีโอกาสเติบโต 0% หรือลบ 0.5% ขณะที่ครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตได้ 5% หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ แต่ถ้าการเมืองไม่นิ่ง รัฐบาลไม่สามารถตั้งได้ งบประมาณไม่เดินหน้า แนวนโยบายใหม่ไม่มี ความวุ่นวายทางการเมืองยังมีต่อเนื่อง จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวชะลอการท่องเที่ยว และอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้โตใกล้เคียงกับ 0% หรือมีโอกาสติดลบได้มากขึ้น ขณะที่ปี 2558 มองว่ามีโอกาสเติบโตได้ 4-5%” นายธนวรรธน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น