xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นมี.ค. ทุบสถิติต่ำสุด ในรอบกว่า12ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคมี.ค. ต่ำสุดในรอบ 149 เดือน หรือกว่า 12 ปี นับจากพ.ย.44 หลังสารพัดปัจจัยรุมเร้า ทั้งการเมืองป่วนไม่เลิก การบริโภคชะลอตัว เศรษฐกิจถดถอย ชี้เศรษฐกิจไทยตอนนี้ใกล้เคียงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 เผยหากการเมืองไม่จบ ไม่มีรัฐบาลใหม่ครึ่งหลัง จีดีพีปีนี้ไม่โตหรือติดลบแน่

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมี.ค.2557 ที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนตัวอย่างทั่วประเทศ 2,256 รายว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 149 เดือน หรือ 12 ปี 5 เดือนนับจากเดือนพ.ย.2544 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.2557 อยู่ที่ 68.8 ลดลงจาก 69.9 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 53.9 ลดจาก 54.5 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 73.4 ลดจาก 74.7 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 58.7 ลดจาก 59.7 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 62.9 ลดจาก 63.6และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 84.9 ลดจาก 86.3

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีทุกรายการปรับตัวลดลง มาจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทย หลังการเลือกตั้งเป็นโมฆะ การตัดสินใจร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทขัดรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อการลงทุน ความวิตกกังวลต่อการชะลอของเศรษฐกิจไทยจากการปรับลดคาดการณ์ขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย เหลือ 2.7% จาก 3% และกระทรวงคลังเหลือ 2.6% จาก 4%ความล่าช้าของการจ่ายเงินจำนำข้าว ราคาข้าวและยางพาราราคาต่ำลง ซึ่งทำให้กำลังซื้อเกษตรกรลดลง รวมถึงความไม่แน่นอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นผลเชิงลบต่อทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคตของไทย ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายลง 0.25% การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย

“การบริโภคของประชาชนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวจนถึงปลายไตรมาส 2 เพราะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง ยังไม่มีสัญญาณปรับฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะคลี่คลายลงเมื่อไร ซึ่งทำให้ประชาชนยังไม่เชื่อมั่น และเริ่มไม่มั่นใจในรายได้ในอนาคต เริ่มรู้สึกว่าข้าวของแพง และส่งผลให้บริโภคลดลงทำให้ผู้ผลิตขายสินค้าไม่ได้ เริ่มจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมมากขึ้น แต่ยังเชื่อว่าไตรมาส 3 การบริโภคจะฟื้นตัว ภายใต้เงื่อนไขต้องมีรัฐบาลใหม่”

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความอ่อนแอและเปราะบาง โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ต่ำกว่า 2% มีความเป็นไปได้มากขึ้น เพราะเมื่อมองบรรยากาศตอนนี้กับช่วงการฟื้นตัวหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง เห็นว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปัจจุบันใกล้เคียงกับช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งเศรษฐกิจไทยติดลบ 1.37% ขณะที่ในปีนี้ปัญหาการเมืองส่งผลกระทบมากต่อทั้งภาคการท่องเที่ยว การส่งออก การบริโภค และการลงทุน ทำให้เครื่องจักรแต่ละตัวที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยแผ่วลงไปมาก

“ศูนย์ฯ ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 2.5% โดยคาดว่าครึ่งปีแรกมีโอกาสเติบโต 0% หรือลบ 0.5% ขณะที่ครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตได้ 5% หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ แต่ถ้าการเมืองไม่นิ่ง รัฐบาลไม่สามารถตั้งได้ งบประมาณไม่เดินหน้า แนวนโยบายใหม่ไม่มี ความวุ่นวายทางการเมืองยังมีต่อเนื่อง จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวชะลอการท่องเที่ยวและอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้โตใกล้เคียงกับ 0% หรือมีโอกาสติดลบได้มากขึ้น ขณะที่ปี 2558 มองว่ามีโอกาสเติบโตได้ 4-5%”นายธนวรรธน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น