xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจมาสเตอร์การ์ดเผย ชาวจีนและไทยสุดยอดขาชอปออนไลน์ผ่านมือถือ นำหน้าชาติอื่นในเอเชียแปซิฟิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้การชอปปิ้งออนไลน์ยังคงเติบโตอย่างไม่หยุดหย่อน แต่เหล่าผู้บริโภคที่ชื่นชอบความสะดวกสบายของการชอปปิ้งผ่านสมาร์ทโฟนนั้นก็ยังคงมีจำนวนมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยผลสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับการชอปปิ้งออนไลน์ของมาสเตอร์การ์ดได้เผยว่านักชอปชาวจีนและชาวไทยจำนวนเกินครึ่ง (59.4% และ 51.2% ตามลำดับ) ได้จับจ่ายซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ของพวกเขา

ผลสำรวจดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มของผู้บริโภคด้านการชอปปิ้งออนไลน์ โดยได้ทำการสำรวจใน 25 ตลาด ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2556 รายงานสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบไปด้วยการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมจำนวน 7,010 คนจาก 14 ตลาด ซึ่งถูกถามคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการชอปปิ้งออนไลน์ของพวกเขา ทั้งนี้ ผลสำรวจและรายงานประกอบต่างๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับผลประกอบการทางการเงินของมาสเตอร์การ์ดทั้งสิ้น

ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกจำนวนสองในสามจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้เข้าร่วมการสำรวจในประเทศจีนเกือบ 100% ระบุว่าพวกเขาได้ซื้อของออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ตามด้วยผู้บริโภคในเกาหลีใต้ (97%) และออสเตรเลีย (90%) ที่หลงใหลการชอปปิ้งบนอินเทอร์เน็ตไม่แพ้กัน

นอกจากนั้น ผลสำรวจยังเผยให้เห็นอีกว่า ผู้ร่วมการสำรวจจากอินเดียที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการชอปปิ้งนั้นพุ่งสูงจากร้อยละ 53.1 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 80 ในปี 2556 ส่งผลให้ตัวเลขของชาวอินเดียที่ชอปปิ้งออนไลน์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 70.9 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 87.8 ในปี 2556

ความแพร่หลายของโทรศัพท์มือถือที่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้ผู้บริโภคหันมาชอปปิ้งผ่านทางโทรศัพท์มือถือ โดยได้รับความนิยมมากที่สุดในจีน (59.4%) ไทย (51.2%) อินเดีย (47.1%) และอินโดนีเซีย (46.7%) ในแง่ของอัตราการเติบโต ตลาดหลักๆ ที่มีแนวโน้มการชอปปิ้งผ่านมือถือเพิ่มมากขึ้นนั้น ได้แก่ ไต้หวัน (เพิ่มขึ้น 17% จากปี 2555) อินเดีย (เพิ่มขึ้น 16.8%) และฟิลิปปินส์ (เพิ่มขึ้น 11.4%) ในขณะที่ผู้บริโภคจากนิวซีแลนด์ (15.0%) ญี่ปุ่น (22.9%) และออสเตรเลีย (24.8%) มีความตั้งใจในการช้อปผ่านมือถือลดน้อยลง

จากทั้ง 14 ตลาดในเอเชียแปซิฟิก เหตุผลอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนหันมาชอปปิ้งออนไลน์นั้นได้แก่ ความสะดวกสบาย (46.8%) ความสามารถในการชอปได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด (41.3%) และการเพิ่มขึ้นของแอปพลิเคชันที่ช่วยให้การชอปปิ้งออนไลน์นั้นง่ายยิ่งขึ้น (40.8%) โดยสินค้าประเภทเสื้อผ้าและแฟชั่นได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับการชอปปิ้งผ่านสมาร์ทโฟน (26.0%) ตามมาด้วยการซื้อแอปพลิเคชัน (22.4%) และเพลง (18.8%)

สำหรับการชอปปิ้งผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยนั้น ความสะดวกสบายมีความสำคัญสำหรับชาวไทยค่อนข้างมาก (59.8%) ตามด้วยจำนวนแอปพลิเคชันออนไลน์ชอปปิ้งที่เพิ่มขึ้น (51.0%) และที่น่าแปลกใจก็คือ ผู้บริโภคชาวไทยถึงร้อยละ 61.4 ชื่นชอบการชอปปิ้งออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์มากกว่าการซื้อของในร้านค้าปกติ (51.6%) ตามด้วยการชอปปิ้งด้วยแท็บเล็ต (40.1%)

นายปิแอร์ เบอร์เรต์ หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คณะที่ปรึกษามาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่สินค้าประเภทเสื้อผ้าและเครื่องประดับแฟชั่นได้แซงขึ้นอันดับ 1 นำหน้าแอปพลิเคชันสำหรับประเภทสินค้าที่ถูกซื้อผ่านสมาร์ทโฟน สิ่งนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ด้านความแข็งแกร่งและความสำเร็จของร้านค้าในการสร้างประสบการณ์การชอปปิ้งผ่านมือถือที่ดีและสะดวกขึ้นให้แก่ผู้บริโภค”

ส่วนเทคโนโลยีใหม่ๆ บนมือถือก็ยังคงดึงดูดความสนใจในหมู่ผู้บริโภคทั่วภูมิภาคด้วยเช่นกัน โดยแอปพลิเคชันแนว mobile banking มีระดับความสนใจและความคุ้นเคยจากผู้บริโภคมากถึงร้อยละ 48.7 ตามด้วยแอปชอปปิ้งผ่านเกมบนมือถือ (in-game-app shopping) อยู่ที่ร้อยละ 35.7 และแอปฯ ชอปปิ้งผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก (in-social-networking-app shopping) อยู่ที่ร้อยละ 34.9

ความปลอดภัยยังคงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญเป็นหลักเมื่อชอปปิ้งออนไลน์ (85.3%) โดยผู้ร่วมการสำรวจจากอินโดนีเซีย (92%) จีน (91.8%) มาเลเซีย (91.2%) สิงคโปร์ (89.8%) และออสเตรเลีย (89.3%) ต่างกล่าวว่าความปลอดภัยเป็นประเด็นหลักที่พวกเขาให้ความสนใจ ตามด้วยคุณค่าของสินค้า (84.8%) และความสะดวกในการชำระเงิน (84.6%)

“ผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงความต้องการอย่างแรงกล้าทั้งในด้านความปลอดภัยและโซลูชันการชำระเงินที่สะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก ผู้ซึ่งก้าวเข้าสู่ไลฟ์สไตล์แบบดิจิตอลมากขึ้นเรื่อยๆ มาสเตอร์การ์ดทุ่มเทอย่างมากเพื่อมอบความสะดวกและตัวเลือกในการชำระเงินที่ปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสประสบการณ์การชอปปิ้งไร้รอยต่อที่ดียิ่งขี้นกว่าเดิม” นายปิแอร์ กล่าวเสริม


กำลังโหลดความคิดเห็น