“พาณิชย์” เดินหน้ารณรงค์เลิกดาวน์โหลดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งหนัง เพลงบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เตือนไม่เพียงแค่ผิดกฎหมาย อาจถูกจับและปรับ แต่ยังเสี่ยงเจอไวรัส สปายแวร์ฉกข้อมูลสำคัญด้วย
นางกุลณี อิศดิศัย รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยภายหลังการเปิดตัวโครงการรณรงค์ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อดิจิตอล “โหลดเล่นเล่น ก็เป็นเรื่อง” ว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐฯ สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงไทย บริษัท กูเกิล ประเทศไทย จำกัด และพันธมิตร ในการจัดทำโครงการรณรงค์ต่อต้านและการละเมิดลิขสิทธิ์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เนื่องจากที่ผ่านมาสหรัฐฯ โดยเฉพาะผู้ผลิตหนังทั้งของไทยและต่างประเทศ เช่น ผู้ผลิตจากฮอลลีวูด มองว่าไทยยังมีการละเมิดลิขสิทธิ์ในเรื่องของภาพยนตร์ เพลง และแบรนด์สินค้าดังๆ จนสร้างความเสียหายแก่ผู้ผลิต
“ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้จัดให้ไทยอยู่ในบัญชีที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการรณรงค์ให้ประชาชนได้เลิกใช้ของก๊อบปี้ และมาตรการในการปราบปราม ส่งผลให้การละเมิดในเมืองไทยลดลงอย่างมาก”
นางกุลณีกล่าวว่า ได้มีการสำรวจทัศนคติของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต พบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่รู้ว่าการอัปโหลดและแชร์ไฟล์อาจมีความผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ขณะเดียวกันยังพบว่า 68% มองว่าสาเหตุที่นิยมดาวน์โหลดและอัปโหลดเพราะของจริงมีราคาแพงเกินไป และอีก 55% มองว่าของปลอมหาได้ง่ายกว่าของจริง
ทั้งนี้ กรมฯ ขอตักเตือนแก่ผู้ที่ดาวโหลดหรืออัปโหลดหนัง เพลงต่างๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากจะผิดกฏหมาย มีโทษปรับ 20,000-200,000 บาท หรือหากโหลดเพื่อการค้าอาจถูกปรับเป็นเงิน 100,000-800,000 บาท และอาจมีโทษจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี
นอกจากนี้ การดาวน์โหลดอาจทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมีความเสี่ยงที่จะติดไวรัสจนต้องเสียเงินในการซ่อมแซม สปายแวร์ซึ่งเป็นของแถมมากับไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ยังสามารถขโมยข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญของผู้โหลดได้ด้วย เช่น ข้อมูลเครดิตการ์ด หรือพาสเวิรด์ที่สำคัญต่างๆ
สำหรับโครงการ “โหลดเล่นเล่น ก็เป็นเรื่อง” เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ “รักจริงต้องของจริง” เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ในขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงสภาพปัญหา และทัศนคติของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง