ASTVผู้จัดการรายวัน - “บิ๊กซี” ปรับใหญ่กลุ่มสินค้าเฮาส์แบรนด์ในรอบ 7 ปี หลังพบว่ายอดขายเริ่มนิ่งมา 2 ปีแล้ว ปรับใหม่ทั้ง “โลโก้-แพกเกจจิ้ง-เพิ่มไลน์สินค้า-เพิ่มซัปพลายเออร์” หวังดันยอดขายปีนี้เติบโต 10%
นางสาวผกาวดี ว่องคงคาเทพ ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าเฮาส์แบรนด์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์การทำตลาดสินค้าเฮาส์แบรนด์ของบิ๊กซีใหม่ในรอบ 7 ปี หลังจากที่เริ่มทำตลาดมามีการเติบโตมาตลอดเฉลี่ย 2-4% ต่อปี แต่พบว่าเมื่อปี 2555 เป็นต้นมายอดขายเริ่มนิ่งไม่เติบโตมากเท่าที่ควร จึงเริ่มทำการวิจัยจากผู้บริโภคเพื่อหาข้อสรุปในการวางแผนใหม่
เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ผ่านการเปลี่ยนโลโก้สินค้าจากเดิมใช้โลโก้เดียวกับตัวซูเปอร์สโตร์ มาเป็นการใช้คำ Big C เท่านั้น โดยไม่ใช้โลโก้เดิมอีกเพื่อสร้างความชัดเจน และปรับแพกเกจจิ้งใหม่ให้ดูสดใสมากขึ้น พร้อมทั้งการเพิ่มกลุ่มสินค้าและจำนวนสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมมีประมาณ 1,000 กว่ารายการ เพิ่มเป็น 2,000 กว่ารายการ รวมทั้งเพิ่มซัปพลายเออร์จากเดิม 100 กว่ารายเป็น 250 กว่ารายแล้ว และยังเพิ่มงบการตลาดมากขึ้นตามสัดส่วนยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากเดิมปีที่แล้วใช้งบตลาดกลุ่มเฮาส์แบรนด์ 30 ล้านบาท
สินค้าบิ๊กซีแบรนด์ใหม่เปิดตัวสินค้าในภาพลักษณ์ใหม่มาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว พบว่าได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคดีพอสมควร มียอดขายเติบโตมากกว่าเดิมแต่ยังไม่ถึง 10% แต่ปีนี้วางเป้าหมายที่จะผลักดันการเติบโตให้มากกว่า 10% ซึ่งจะทำการตลาดมากขึ้น และมีการออกสินค้าใหม่อีกปีนี้มากกว่า 200-300 รายการ อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากสภาพปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ดี กำลังซื้อผู้บริโภคลดน้อยลง และปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองจึงทำให้สินค้าที่มีราคาต่ำอย่างเฮาส์แบรนด์ขายดีตามไปด้วย
ทั้งนี้ สินค้าเฮาส์แบรนด์ทั้งหมดของบิ๊กซีมี 5 กลุ่ม คือ 1. แบรนด์แฮปปี้บาท ถูกที่สุด จับกลุ่มล่าง 2. แบรนด์บิ๊กซี จับกลุ่มกลาง ราคาต่ำกว่าซัปพลายเออร์ 10-15% 3. แบรนด์บิ๊กซีพรีเมียม จับกลุ่มพรีเมียม ต่ำกว่าทั่วไป 10% 4. กาสิโน จับกลุ่มบน และโมโนปรีกูร์เมต์ เป็นแบรนด์นำเข้าจากฝรั่งเศส มีขายเฉพาะที่บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้าเท่านั้น
สินค้าเฮาส์แบรนด์ของบิ๊กซีที่มียอดขายดีคือกลุ่มอุปโภคบริโภคเป็นหลัก เช่น น้ำมันปรุงอาหาร มีแชร์มากกว่า 40% เมื่อเทียบกับซัปพลายเออร์ทั้งกลุ่มน้ำมันที่จำหน่ายในบิ๊กซี ที่เหลือเป็นแบรนด์ของซัปพลายเออร์ข้าวสารมีแชร์ 30% เมื่อเทียบกับซัปพลายเออร์ไข่มีแชร์มากกว่า 50% สำหรับกลุ่มที่ซื้อสินค้าส่วนใหญ่นั้นเป็นแม่บ้าน 75% อายุ 25-35 ปี มีสมาชิกในครอบครัว 4-5 คน มีรายได้ 25,000-30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งพบว่าในต่างจังหวัดกลุ่มที่ขายดีจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนในกรุงเทพฯ จะเป็นกลุ่มสินค้าเฮาส์โฮลด์เป็นหลัก
นางสาวผกาวดีกล่าวต่อว่า ตลาดสินค้าเฮาส์แบรนด์ในไทยยังมีมูลค่าน้อยมาก แต่ยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีก แต่ต้องใช้เวลา ไม่เหมือนกับในต่างประเทศโดยเฉพาะในตลาดยุโรปที่สินค้าเฮาส์แบรนด์มีสัดส่วนยอดขายมากกว่า 65% ในกลุ่มช่องทางไฮเปอร์มาร์เกต เพราะผู้บริโภคให้การยอมรับมากขึ้นเนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้ามากขึ้น แต่ประเทศไทยเราต้องให้เวลาในการให้ผู้บริโภคยอมรับมากกว่านี้ ซึ่งเราเองก็ต้องมีการพัฒนาคุณภาพและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคมากที่สุด
ปัจจุบันบิ๊กซีมีสาขาประเภทไฮเปอร์มาร์เกต 119 สาขา (รวมจัมโบ้ 3 สาขา, รวมเอ็กซ์ตร้า 18 สาขา), บิ๊กซีมาร์เก็ต 30 สาขา, มินิบิ๊กซี 286 สาขา (รวมที่อยู่ในปั๊มบางจากแล้ว 62 สาขา) และร้านเพรียว 132 สาขา