xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ช่วย SMEs รับมือผลกระทบทางการเมือง หาทางสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มโอกาสส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” อัดกิจกรรมช่วย SMEs รับมือผลกระทบจากปัญหาการเมือง เน้นสร้างความเข้มแข็งในการทำธุรกิจ และเพิ่มโอกาสส่งออก หลังผลสำรวจพบภาคบริการท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทั้งโรงแรม รถเช่า อัญมณี สปา รวมถึงภาคการผลิต ค้าส่ง ค้าปลีก บางส่วนได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยมีแผนที่จะเน้นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น โดยได้บูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และผลักดันให้ SMEs มีความเข้มแข็ง ทั้งการสร้างความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ และให้ความช่วยเหลือเพื่อผลักดันการส่งออก

โดยในด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ กระทรวงฯ มีโครงการที่จะช่วยยกระดับความพร้อมของ SMEs โดยจะเน้นการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ การพัฒนาธุรกิจที่มีอยู่สู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ เช่น ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ลอจิสติกส์ สุขภาพ แฟรนไชส์ การช่วยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตสินค้าและบริการ การส่งเสริมให้นำระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) มาใช้ในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงตั้งในประเทศอาเซียนและจีน เพื่อให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่สนใจตลาดอาเซียน และยังมีโครงการสนับสนุน SMEs เข้าสู่ตลาด AEC เป็นการเฉพาะ

นางศรีรัตน์กล่าวว่า การจัดทำแผนช่วยเหลือ SMEs ดังกล่าว เนื่องจากกระทรวงฯ ได้ประสานกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ได้มีการสำรวจความเห็นของกลุ่มผู้ประกอบการทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค พบว่าผู้ประกอบการกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบมากที่สุด โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างชัดเจน ได้แก่ ภาคบริการด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง เช่น โรงแรม สปา รถเช่า สถานพยาบาล การจัดงานแสดงสินค้า และภาคการค้าบางส่วน เป็นต้น

ขณะที่ผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ก็ยังพบว่า ในเดือน ม.ค. 2557 ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบรุนแรง 38% ปานกลาง 28% น้อย 12% และไม่ได้รับผลกระทบ 22% ซึ่งส่วนใหญ่เจอปัญหายอดขายสินค้าลดลง กระทบแผนการผลิต การขนส่งวัตถุดิบ กระทบคำสั่งซื้อล่วงหน้า พอมาเดือน ก.พ. 2557 ผลกระทบเพิ่มมากขึ้น โดยกระทบรุนแรงเพิ่มเป็น 56% ปานกลาง 25% กระทบน้อย 4% และไม่กระทบ 15% โดยพบปัญหาเพิ่มขึ้นในด้านสภาพคล่องทางการเงิน ปัญหาด้านภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น การนำเข้าส่งออก

โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว โดยธุรกิจโรงแรมยอดจองห้องพักลดลง 25-30% ธุรกิจรถเช่า ลดลง 10-15% ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับยอดขายลดลง 30-40% ธุรกิจสปา ลูกค้าต่างชาติลดลง ธุรกิจนำเที่ยว สถานพยาบาล และธุรกิจให้คำปรึกษา ต่างชาติใช้บริการลดลง ธุรกิจประกันภัย ตัวเลขการทำประกันของนักท่องเที่ยวลดลง ธุรกิจแสดงสินค้าชะลอตัวลง เนื่องจากหน่วยงานราชการงดจัดกิจกรรมในส่วนภูมิภาค ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เฟอร์นิเจอร์ ผลิตสี และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยอดขายลดลง ธุรกิจก่อสร้างชะลอตัว จากการชะลอโครงการเมกะโปรเจกต์

สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เช่น ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ เนื่องจากผู้บริโภคใช้จ่ายลดลงกระทบต่อยอดขาย ธุรกิจยาแผนปัจจุบัน และยาสมุนไพรมียอดขายลดลง ส่วนธุรกิจของเล่น การค้าสินค้าอุปโภคได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากยอดขายที่ลดลงในบางพื้นที่ เช่น สบู่และสิ่งชำระล้าง ขณะที่สินค้าภาคเกษตรและอาหาร ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และประมง แม้ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ส่วนธุรกิจเครื่องนุ่งห่มเป็นธุรกิจเดียวที่ยังไม่ได้รับผลกระทบเพราะส่งออกเป็นหลัก แต่ในอนาคตหากการเมืองยืดเยื้อก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและคำสั่งซื้อแน่
กำลังโหลดความคิดเห็น