xs
xsm
sm
md
lg

ผวาการเมืองพ่นพิษทุบเศรษฐกิจพัง ชงมาตรการอุ้ม SMEs ป้องตายหมู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แถลงมาตรการบรรเทาผลกระทบ SMEs จากการชุมนุมทางการเมือง
สสว.ชี้การเมืองป่วน SMEs โดนผลกระทบรุนแรงเกิน 56% แล้ว เร่งจับมือหน่วยงานรัฐ สถาบันการเงินคลอดมาตรการบรรเทาพิษก่อนลามรุนแรงเป็นวิกฤต ศก. แจงอุ้มทั้งด้านการเงิน ตลาด และเพิ่มความสามารถ คาดช่วยได้เบื้องต้นกว่า 3 หมื่นราย

นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากความไม่สงบทางการเมืองที่ผ่านมา สสว.ได้ทำการสำรวจ SMEs จากกลุ่มตัวอย่าง 500 รายทั่วประเทศในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า ผลกระทบเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเดือนมกราคมกลุ่มที่ระบุว่าได้รับผลกระทบรุนแรง38% เมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มเป็น 56% ส่วนใหญ่ระบุว่ายอดขายและรายได้ลดลง ประมาณ 30% ออเดอร์ลูกค้าเริ่มเกิดปัญหา และเริ่มขาดสภาพคล่อง ซึ่งผู้ประกอบการปรับตัวด้วยการลดต้นทุนการผลิต ลดชั่วโมงทำงาน ลดพนักงาน และไม่รับพนักงานใหม่

ผอ.สสว.ระบุด้วยว่า ผลกระทบต่อ SMEs ในปัจจุบันใกล้เคียงกับการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 แต่ยังไม่รุนแรงเท่าภัยน้ำท่วมปี 2554 หรือวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อยาวนานออกไป ปัญหาที่ตามมาคือเอสเอ็มอีจะขาดสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นหนี้เสียถึงขั้นต้องปิดกิจการ ตามมาด้วยปัญหาว่างงาน และกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง ด้วยเหตุนี้ สสว.ได้ประสานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อออกมาตรการบรรเทาผลกระทบ SMEs จากการชุมนุมทางการเมืองก่อนที่วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้น ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน มาตรการช่วยเหลือด้านการตลาด และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ

สำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน สสว.ได้รับความร่วมมือจาก 5 สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ฯลฯ โดยมีมาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1. การพักชำระเงินต้นเป็นเวลา 6-12 เดือน 2. การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ระยะเวลา 3-12 เดือน และ 3. การให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งจะพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆ ทั้งนี้ SMEs ที่เข้ารับมาตรการดังกล่าวจะไม่ถือเป็นลูกหนี้ NPL

นายปฏิมาระบุด้วยว่า เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลทำหน้าที่รักษาการจึงไม่สามารถอนุมัติงบประมาณผูกพันได้ ดังนั้น สสว.จึงไม่สามารถของบประมาณเพื่อมาช่วยรับภาระดอกเบี้ยแทน SMEs ได้ ดังนั้น ในส่วนรายละเอียดต่างๆ ของมาตรการนี้ เช่น วงเงินปล่อยกู้ อัตราดอกเบี้ย ฯลฯ จะขึ้นอยู่ที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะนำเสนอ โดย สสว.จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการช่วยเจรจา และรับลงทะเบียนเพื่อส่งต่อไปยังสถาบันการเงินต่างๆ

ในส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านการตลาด และส่วนมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ ทาง สสว.จะเจียดเงินส่วนหนึ่งจากงบประมาณประจำปี 2557 ของตัวเองมาช่วยเหลือ เน้นกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมียอดขายหรือรายได้เพิ่มขึ้น เช่น การจัด Market Place ร้านค้าออนไลน์ และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เป็นต้น ควบคู่กับทำกิจกรรมเพิ่มความสามารถ เช่น ตั้งคลินิก SMEs เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับลงทะเบียนผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ให้คำปรึกษาปัญหาในด้านต่างๆ ขณะเดียวกันจะรวบรวมข้อมูล SMEs ที่ได้รับผลกระทบ นำเสนอรัฐบาลใหม่เพื่อขอความเห็นชอบเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป

นายปฏิมากล่าวต่อว่า สำหรับ SMEs ที่ต้องการเข้าโครงการสามารถมาลงทะเบียนได้ที่ สสว.ทันที โดยคุณสมบัติต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง มีข้อมูลเบื้องต้นมายืนยันได้ โดยเบื้องต้น สสว.คาดว่าจะช่วย SMEs ได้ประมาณ 20,000 ราย และหากยังมีความต้องการมากกว่านี้จะหารือกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อขยายความช่วยเหลือต่อไป

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น