“พาณิชย์” ตั้งทีมปราบพ่อค้า แม่ค้า เปิดเว็บไซต์ เฟซบุ๊กขายของปลอม ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า นาฬิกา รองเท้า เครื่องสำอาง ยาเสริมหล่อเสริมสวย ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด จับมือตำรวจ ไอซีที และเจ้าของสิทธิวางแผนจัดการ ลั่นเตรียมแก้กฎหมายลิขสิทธิ์เอาผิด ตั้งแท่นรอชงรัฐบาลใหม่ พร้อมประสานไอซีทีเพิ่มช่องปิดเว็บไซต์ เตรียมรณรงค์กระตุ้นวัยโจ๋ต้านซื้อขายของปลอม หลังพบเป็นกลุ่มเสี่ยงในยุคดิจิตอล
นางกุลณี อิศดิศัย รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ กำลังติดตามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบใหม่ๆ บนอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ทั้งการเปิดเว็บไซต์จำหน่าย การขายผ่านเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการขายของปลอมเพิ่มมากขึ้น ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋าแบรนด์เนม รองเท้า สุรา ไวน์ เครื่องสำอาง ยาที่เกี่ยวข้องกับการเสริมความงาม เช่น ยาลดความอ้วน ยาผิวขาว เป็นต้น รวมถึงสินค้าเดิมๆ อย่างภาพยนตร์ เพลง เกม และซอฟต์แวร์
ทั้งนี้ แนวทางในการดำเนินการ กรมฯ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งได้มีการติดตามและตรวจสอบการค้าขายสินค้าปลอมบนอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมาโดยตลอด และได้มีการประสานให้ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และเจ้าของสิทธิ์ดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง
“เบื้องต้นกรมฯ ได้เน้นการจับกุมสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน อย่างเช่นพวกยาปลอม โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการสืบค้นเว็บขายยาปลอม โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตำรวจ ดีเอสไอ สามารถจับกุมตัวผู้ขายโบท็อกซ์ปลอมทางเว็บไซต์ได้ และยังบุกทลายแหล่งเก็บได้ด้วย ยึดของปลอมได้ 500 ชิ้น มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท”
สำหรับสินค้าปลอมอื่นๆ กรมฯ ได้ร่วมกับเจ้าของสิทธิ์ร่วมกันทำแผนในการจับกุม โดยแยกเป็นหมวดหมู่สินค้า ขณะนี้กำลังดำเนินการกันอยู่ ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้สถานการณ์ยังไม่ค่อยปกติ กำลังเจ้าหน้าที่ก็มีน้อย แต่กรมฯ ยืนยันว่าไม่ได้หยุดนิ่ง ยังมีการจัดการกับผู้ที่ค้าสินค้าปลอมอย่างต่อเนื่อง
นางกุลณีกล่าวว่า กรมฯ ยังได้มีการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ครอบคลุมถึงการป้องกันการละเมิดบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพราะในร่างกฎหมายเดิมไม่ได้เขียนไว้ โดยเชื่อว่าหากกฎหมายมีผลบังคับใช้จะทำให้การดูแลการละเมิดบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำได้ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้กรมฯ ได้เตรียมที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบ หลังจากที่มีการยุบสภาร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ได้ตกไป
ขณะเดียวกัน กรมฯ ยังได้ผลักดันให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ดูแล พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถใช้กลไกภายใต้กฎหมายในการปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งล่าสุดทางไอซีทีอยู่ระหว่างการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวอยู่
นางกุลณีกล่าวว่า สำหรับแผนการรณรงค์และสร้างความรู้ในการไม่ซื้อสินค้าปลอมทางอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในระดับนักเรียนนักศึกษา กรมฯ มีแผนที่จะสร้างความตื่นตัว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพ่อค้าแม่ค้ารุ่นใหม่ที่จะใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในการค้าขายสินค้าปลอม เพราะผลสำรวจพบว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ในยุคดิจิตอลส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น โดยมีแผนที่จะจัดทำการ์ตูนแอนิเมชันชี้ให้เห็นถึงโทษของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การจัดประกวดเรียงความในระดับนิสิต นักศึกษา เพื่อสร้างจิตสำนึก
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ติดตามการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการค้าของปลอม ของละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นความผิดภายใต้กฎหมาย ปปง. โดยคาดว่าภายในปีนี้จะมีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน และมีการบังคับใช้ต่อผู้ละเมิดรายใหญ่เป็นรูปธรรมมากขึ้น