xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวนาปรังรอคิวจ่ายอีกแสน ลบ. แนะจ้างให้งดปลูกฤดูหน้าปูทางปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จับตาข้าวนาปรังจ่อถล่มรัฐบาลอีก! ทยอยเก็บเกี่ยว มี.ค.นี้ คาดมีอีก 6-7 ล้านตัน วงเงินที่ต้องจำนำอีกแสนล้านบาท จี้รัฐเร่งระบายข้าวในสต๊อกด่วน! พร้อมแนะฤดูผลิตหน้าควรจ้างชาวนาเลิกปลูกข้าวนาปรังลดสต๊อกและเปิดทางปฏิรูปนโยบายทั้งหมด เหตุจำนำถึงทางตันและกำลังก้าวสู่วิกฤตแล้ว

นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการจัดหาเงินมาให้ชาวนาที่นำข้าวมาจำนำกับรัฐบาลได้ เนื่องจากปัญหามีมาก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมประท้วงรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลควรจะวางแผนการระบายข้าวออกพร้อมกับหาแหล่งเงินกู้ล่วงหน้าตั้งแต่ ก.ย. 56 แล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องคำนึงก็คือข้าวนาปรังที่กำลังจะเก็บเกี่ยวทยอยออกมาช่วง มี.ค.นี้อีกราว 6-7 ล้านตันก็จะต้องใช้เงินประมาณแสนล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลไม่หาวิธีแก้ไขล่วงหน้าก็จะทำให้เกษตรกรมีปัญหาไม่ได้รับเงินอีก

“รัฐบาลควรจะยอมรับผิดเพราะปัญหานี้มันเริ่มเกิดตั้งแต่ ก.ย. 56 ก่อนยุบสภาด้วยซ้ำ และเวลานี้ก็อย่ามาโทษม็อบหรือโทษแบงก์เขามีสิทธิ์ที่จะดูแลเงินของเขาแต่หน้าที่รัฐบาลมีอยู่คือหาเงินมาจ่ายชาวนา ข้าวที่สต๊อกไว้มากมายเปิดประมูลขายซิครับเพราะอะไรถึงไม่ยอมระบายออก ขายได้เท่าใดก็ยังเป็นเงินมาจ่าย ที่เหลือจะกู้หรืออะไรมันก็น้อยลง หรือจริงๆ แล้วรัฐบาลรู้ว่าข้าวมันเสีย หรือมันไม่มีอยู่จริง” นายอานันต์กล่าว

สำหรับแนวทางเร่งด่วนในการแก้วิกฤตข้าวไทยระยะสั้นคือรัฐบาลต้องเร่งหาเงินมาจ่ายชาวนา หลังจากนั้นแนวทางหนึ่งที่เห็นว่าจะเป็นการลดสต๊อกข้าวและเงินที่รัฐบาลจะต้องรับจำนำ ซึ่งสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็เคยใช้แนวทางดังกล่าวคือการจ้างให้เกษรกรลดปลูกข้าวนาปรังในฤดูหน้าลง ซึ่งปกติจะมีการเพาะปลูก 12 ล้านไร่ ผลผลิตที่ได้สูงสุดราว 10 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลใช้เงินจ้างเกษตรกรเพียงไร่ละ 2,000 บาท (คิดจากกำไรที่คาดว่าจะได้รับ) จะใช้เงินเพียง 2.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แนวทางนี้นอกจากจะลดสต๊อกข้าว ลดเงินรับจำนำ ยังเป็นการพักดิน ลดการใช้น้ำ และที่สำคัญมีเวลาที่จะมาทบทวนนโยบายข้าวทั้งระบบใหม่ว่าจะเดินไปทางไหน

นายอนันต์กล่าวว่า นโยบายจำนำข้าวขณะนี้ถึงทางตันแล้ว และได้ทำลายข้าวไทยทั้งระบบจนนำมาสู่วิกฤตในปัจจุบัน โดยนโยบายดังกล่าวทำลายโครงสร้างสำคัญ ได้แก่ 1.ทำลายการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกเนื่องจากราคาจำนำที่ตั้งไว้สูงกว่าตลาดโลกส่งผลให้ไทยส่งออกข้าว 10 ล้านตันต้องลดลงเสียแชมป์ให้กับเวียดนามและอินเดียกลายเป็นผู้ส่งออกอันดับสาม 2. ทำลายคุณภาพข้าวไทยเพราะข้าวจำนำทุกเมล็ดนำมาซึ่งการเพาะปลูกที่ไม่ได้คำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพ และเมื่อรับจำนำมีการนำมาสีรวมกันทำให้ข้าวเมล็ดยาวถูกกังขาเรื่องคุณภาพในการส่งออก 3. ระบบการทำนาเปลี่ยนเพราะเกษตรกรต้องการได้เงินจำนำจึงเร่งปลูกด้วยการใช้สารเคมีมากขึ้น 4. จำนำเปิดทางให้เกิดการคอร์รัปชัน

“ผมยังหวังว่าในที่สุดแล้วคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดโครงการรับจำนำข้าว เพราะมีข้อมูลเยอะมากและชัดเจนที่จะหาข้อเท็จจริงมาพิสูจน์สามารถเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องได้แน่ ผมคิดว่าข้อมูลมีพิสูจน์เกินพอครับ” นายอนันต์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น