xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนแนะทุกฝ่ายเคารพคำตัดสินศาลฯ สร้างความเชื่อมั่นเดินหน้าประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล
เอกชนแนะให้ทุกฝ่ายเดินหน้าตามระบอบบประชาธิปไตย เคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อปัญหาการเมืองอาจจะยังไม่จบแค่นี้หากรัฐบาลไม่ชัดเจนร่าง กม.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย


นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาภาคเอกชนต้องการให้ทุกฝ่ายดำเนินการไปตามระบอบประชาธิปไตยต่อไป เพื่อเห็นแก่การขับเคลื่อนของประเทศ เพราะเมื่อมีความชัดเจนของคำพิพากษาดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าประเทศไทยพ้นจากภาวะสุดซอยออกมาเดินได้ตามปกติแล้ว จึงอยากให้ทุกฝ่ายยอมรับคำพิพากษา

“เชื่อว่ารัฐบาลจะเดินหน้าทำงานต่อไป สิ่งใดที่ควรเริ่มต้นใหม่ก็ต้องกลับไปทำให้ถูกต้อง สิ่งใดไม่ควรเข้าไปแตะต้อง ก็ไม่ควรเข้าไปยุ่งให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก หลังจากนี้ไปรัฐบาลจะกลับมาเริ่มต้นทำงานได้อย่างไม่ต้องมีความกังวลทางการเมือง อำนาจนิติบัญญัติก็ไม่มีปัญหา ส่วนม็อบทางการเมืองควรจะยุติลงหรือไม่ ภาคเอกชนคงไม่สามารถให้ความเห็นได้ เพราะเป็นสิทธิทางการเมืองของแต่ละคนที่จะพิจารณา” นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายสมมาต ขุนเศษฐ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมานั้นเชื่อว่าทุกฝ่ายคงจะเคารพในคำตัดสินดังกล่าวเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปตามกฎหมาย แต่ปัญหาการเมืองเชื่อว่าจะยังไม่จบ เนื่องจากประเด็นของการชุมนุมทางการเมืองมีหลายประเด็น โดยเฉพาะการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ดังนั้น เป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องพิสูจน์ความจริงใจเพราะความไม่ชัดเจนขณะนี้ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นอย่างมาก

“นักลงทุนเขาก็กำลังมองว่าไทยจะไปทางไหนแน่เรื่องนี้ เพราะกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยนั้น หากผู้มีอำนาจในบ้านเมืองทำผิดแล้วสามารถแก้ให้ถูกได้ ก็เท่ากับไทยไม่เคารพกฎหมาย ไม่ยึดหลักนิติรัฐ ปัญหาการคอร์รัปชันต่างๆ ทุกอย่างรัฐบาลต้องพิสูจน์ออกมา” นายสมมาตกล่าว

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมายังไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยหลักที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำเกิดจากนโยบายประชานิยมหลายๆ อย่าง ทั้งค่าแรง 300 บาทต่อวัน รถคันแรก จำนำข้าว ฯลฯ และล่าสุดยังมีปัญหาการส่งออกที่ชะลอตัวอย่างหนัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอกชนได้ส่งสัญญาณแล้วแต่รัฐบาลกลับไม่มีแนวทางใดๆ ในการแก้ไขปัญหาหรือยอมรับความจริง โดยเฉพาะเรื่องส่งออก
กำลังโหลดความคิดเห็น