xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ยังไม่ไว้ใจ จ่อยื่นสถานทูตอียู 11 พ.ย.ประณามร่าง กม.นิรโทษฉบับเหมาเข่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


องค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ลั่นจุดยืนจะไม่ให้ร่าง กม.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งฟื้นคืนชีพ และไม่ให้มีการสอดแทรกการล้างผิดคดีโกงใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมเคียงข้างประชาชนให้รัฐบาลคืนความชอบธรรมสู่ประเทศ ลั่นจะจับตารัฐบาลใกล้ชิด เหตุยกเลิก พ.ร.บ.ไม่ได้หมายถึงความล้มเลิกความพยายาม ย้ำประชาชนไม่เชื่อมั่นแม้รัฐจะมีท่าทีถอยร่าง พ.ร.บ.ออกก็ตาม เตรียมยื่นคัดค้านต่อสถานทูต “อียู” 11 พ.ย.นี้เพื่อเดินประณามไปทั่วโลก

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยหลังการหารือวันนี้ (8 พ.ย.) ว่า ที่ประชุมได้ลงมติถึงแนวทางการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่าด้วยการล้างผิดคดีความเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน แม้ว่ารัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะออกมารับปากว่าจะถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปแต่ประชาชนเองก็ยังไม่เชื่อมั่นอยู่ดี เพราะแม้ว่าจะถอนร่าง พ.ร.บ. 6 ฉบับ แต่ฉบับที่มีปัญหายังอยู่ ดังนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรทราบดีว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป เพราะหากรัฐบาลนี้ไม่ยอมฟังเสียงประชาชนก็คงไม่ใช่เป็นรัฐบาลของประชาชนอย่างที่พูดไว้

“เราคงไม่เสนอแนะทางออกอะไรเพราะเชื่อว่ามีคนเสนอแนะไปแล้ว เช่นเดียวกับการที่เราเองก็คงไม่ชี้ทางไปถึงการเสนอให้ยุบสภาฯ เพราะเชื่อว่าก็มีคนพยายามเสนออยู่เช่นกัน แต่เมื่อมีพลังเสียงของประชาชนออกมารัฐบาลก็ไม่ควรจะไม่ฟัง และการรับปากว่าจะถอยก็ไม่ได้ว่าประชาชนจะเชื่อมั่นได้ เพราะหากวุฒิสภาคว่ำร่างแล้วก็สามารถที่จะกลับมาเสนอใหม่ได้ภายใน 180 วัน ปัญหานี้ก็ไม่จบ การสัญญาว่าจะไม่เอากลับมาจึงทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม วันที่ 11 พ.ย.นี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจะเดินทางไปยื่นการคัดค้านร่าง กม.นิรโทษกรรมที่ล้างผิดคดีการทุจริตคอร์รัปชันต่อสถานทูตสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อที่จะให้ทั่วโลกได้รับรู้” นายประมนต์กล่าว

สำหรับที่ประชุมได้มีมติสำคัญดังนี้ 1. ยืนยันเห็นชอบกับแนวคิดของ ป.ป.ช. ว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ใช่เรื่องการนิรโทษกรรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่แฝงด้วยเรื่องการล้างผิดให้กับคดีโกง เพราะหาก พ.ร.บ.นี้ผ่าน คดีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 น่าจะหมายถึง 1. คตส.ทั้งคณะ 2. คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ยังคงปฏิบัติหน้าที่มาถึงปัจจุบัน 3. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. 4. ผู้ตรวจการแผ่นดิน 5. คณะกรรมการการเลือกตั้งจะพ้นผิดทั้งหมด

2. เราจะจับตาการทำงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพราะการยกเลิก พ.ร.บ.ไม่ได้หมายถึงการล้มเลิกความพยายาม ดังนั้นองค์กรฯ จะไม่ยอมให้มีการสอดแทรกการล้างผิดคดีโกงขึ้นอีกในรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น และพร้อมจะต่อสู้เคียงข้างประชาชนทันทีในการต่อต้านการกระทำมิชอบที่มีผลต่อการส่งเสริมให้เกิดโอกาสการทุจริตคดโกง

3. องค์กรฯ เชื่อมั่นว่าการคัดค้านครั้งนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายสากล และเป็นไปอย่างสันติวิธี โดยไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือก่อเหตุการณ์ความไม่สงบแก่ประเทศแต่อย่างใด ดังนั้น หากประชาชน นิสิต นักศึกษาผู้ซึ่งที่ทำหน้าที่พลเมืองของประเทศที่ออกมาเรียกร้องความถูกต้องในการต่อต้านคอร์รัปชันได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำที่ไม่เป็นธรรมไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม องค์กรฯ พร้อมที่จะออกมาปกป้องประชาชน และจะเรียกร้องให้นานาชาติเห็นถึงการกระทำที่ไม่ยุติธรรม และจะประณามการกระทำดังกล่าวไปทั่วโลก ซึ่งองค์กรฯ หวังว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น และขอยืนยันว่าจุดยืนขององค์กรฯ คือการต่อต้านคอร์รัปชัน ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง

4. เรายังจะคงดำเนินการต่อต้านคอร์รัปชันต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศยกเลิกร่างกฎหมายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าการโกงกินจะหมดไป ยังมีโครงการของรัฐบาลอีกมากมายที่สังคมยังเคลือบแคลง เช่นโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท เงินงบประมาณป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้าน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท และโครงการอื่นๆ

5. องค์กรฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่าจุดยืนขององค์กรฯ ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาล หรือต่อต้านการปรองดอง แต่คือการต่อต้านคอร์รัปชัน แม้ว่ารัฐบาลจะแถลงการณ์ยกเลิก พ.ร.บ. แต่กลับไม่ทำให้การชุมนุมคลี่คลาย เสียงของประชาชนแสดงให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นในความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล องค์กรฯ จึงต้องการให้รัฐบาลทบทวนบทบาทของตนเอง และพิจารณาเร่งออกมาตรการ และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน อีกทั้งต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพราะหากกฎหมายนี้ผ่านก็เท่ากับเป็นการก้าวก่ายอำนาจศาล จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนคนไทยและสังคมโลก ให้เห็นถึงความชอบธรรมในการบริหารประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น