หอการค้าญี่ปุ่นเผยนักลงทุนญี่ปุ่นไม่ชะลอการลงทุนในไทยแม้จะมีปัญหาการต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เหตุชินแล้ว แต่การหารือคณะอนุกรรมการร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจฯ ร่วมบีโอไอจี้รัฐบาลไทยป้องน้ำท่วมภาคตะวันออก
นายซูซุมุ อูเนโนะ ประธานคณะกรรมการบริหารหอการค้าญี่ปุ่น (JCC) เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาและแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาประเด็นที่เกี่ยวข้องและเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของสองประเทศ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ว่า จากกรณีคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบต่อการชะลอการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นแต่อย่างใด เนื่องจากการประท้วงในอดีตทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้าใจการเมืองไทยมากขึ้น
“สถานการณ์ครั้งนี้เรายังมองไม่เห็นว่าจะจบอย่างไรหรือจะลุกลามมากน้อยเพียงใด แต่ก่อนหน้านี้นักลงทุนญี่ปุ่นเคยเจอการประท้วงรุนแรงมาแล้วทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นเกิดชะลอการลงทุนไปบ้างแต่ที่สุดก็กลับมาใหม่ ซึ่งครั้งนั้นก็ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นเรียนรู้การเมืองไทยมากขึ้น” นายซูซุมุกล่าว
นายคิมิโนะริ ออิวามะ อัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นและแนวทางการแก้ไขอุปสรรคการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาภาษีศุลกากร แรงงาน นโยบายของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับ ROH หรือศูนย์ปฏิบัติการภูมิภาค
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงประเด็นน้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในวัตถุประสงค์หลักในอนุกรรมการฯ ที่ไม่อยู่ในวัตถุประสงค์หลักในอนุกรรมการแต่บังเอิญเกิดขึ้นและนำมาพูดกันเนื่องจากนักลงทุนญี่ปุ่นต้องการให้รัฐบาลไทยให้ข้อมูลน้ำอย่างรวดเร็ว เพราะน้ำท่วมเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการป้องกันแล้วแต่ปีนี้กลับมาท่วมในพื้นที่ใหม่จึงทำให้นักลงทุนต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภาคตะวันออกด้วย
“ปีนี้ท่วมอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งทางนักลงทุนญี่ปุ่นต้องการให้รัฐบาลไทยให้ข้อมูลอย่างรวดเร็ว เพราะน้ำท่วมครั้งนี้พบว่ามีข้อมูลเป็นภาษาไทยในเว็บไซต์ ต้องการให้จัดทำเป็นภาษาต่างประเทศเพื่อนักลงทุนจะได้รับทราบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้รับไปพิจารณาแล้ว และยังต้องการให้ขยายเส้นทางจราจรทางบกเช่นที่แหลมฉบังที่ขณะนี้แออัดมาก ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า” นายคิมิโนริกล่าว
สำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมมูลค่า 2 ล้านล้านบาทไม่ได้อยู่ในหัวข้อการประชุม แต่ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นสนใจโครงการลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูงมาก และได้มีการแถลงข่าวไปแล้วก่อนหน้านี้
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองหากต่อเนื่องและรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุน แต่หากไม่ขยายความรุนแรงหรือลุกลามจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่นักลงทุนใหม่ที่ไม่รู้จักประเทศไทยดีอาจจะมีความกังวลบ้าง